ททท.สำนักงานตรัง จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน วิสาหกิจกลุ่มชุมชนท่องเที่ยวบ้านมดตะนอย ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง แก่นักกีฬาผู้เข้าร่วมการแข่งขันสแครบเบิ้ลเกมชิงแชมป์เยาวชนโลก ครั้งที่ 18 (WESPA Youth Cup 2023) ทำกิจกรรมเรียนรู้สัมผัสวิถีชุมชนชาวเล ด้วยการท่องเที่ยวแบบ Low carbon ได้รับประสบการณ์ผ่านกิจกรรมท่องเที่ยวโดยปราชญ์ชุมชน รับฟังเรื่องเล่าการอนุรักษ์ กิจกรรมฐานเรียนรู้หญ้าทะเล การเพาะพันธุ์โกงกาง และธนาคารปูม้า กิจกรรมสาธิตการทำลอบปลา การผูกอวนประมง และการแกะเนื้อปู กิจกรรม CSR การปล่อยปูไข่นอกกระดองและปลูกป่าโกงกาง ที่บ้านหาดมดตะนอย พร้อมทั้ง รับประทานอาหารถิ่นซีฟู้ดสด ๆ จากทะเลโดยฝีมือเชฟชุมชน

ทั้งนี้ วิสาหกิจกลุ่มชุมชนท่องเที่ยวบ้านมดตะนอย เริ่มต้นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยคนในหมู่บ้านมีอาชีพประมงเป็นหลัก และเกิดวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมในปี 2535 เพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งต่อทรัพยากรที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตและความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และนำนักท่องเที่ยว ปล่อยปูม้า จำนวน 13 ตัว ที่ริมหาดมดตะนอย ซึ่งที่นี่ทำธนาคารปูม้า โดยเป็นปูม้าที่มีไข่นอกกระดอง และอนุบาลหญ้าทะเลเพื่อคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล และเป็นพืชที่สามารถดูดซับคาร์บอนได้ดีที่สุด และต่อมาก็ได้นำนักท่องเที่ยวเดินเท้าระยะทางกว่า 600 เมตรไปยังจุดระหว่าง สันหลังมังกรเผือก ในพื้นที่ ม.3 ต.เกาะลิบง เพื่อร่วมใจกันปลูกป่าโกงกาง ซึ่งต้นโกงกางที่ปลูก เป็นต้นโกงกางใบเล็ก จำนวน 200 ต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่ธรรมชาติอีกด้วย                  

น.ส.เนตรนภา ภักดีสุวรรณ อายุ 24 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว และเพื่อนนักศึกษาแลกเปลี่ยน บอกว่า เพื่อนชื่อโกอิกับอะใบ ซึ่งเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนมาจากต่างประเทศ เขาบอกว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมากและใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์มากกว่าไปเล่น วันนี้ก็รู้สึกดีที่ได้มาร่วมกิจกรรมทั้งปล่อยปูปลูกฝากโครงการและเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนของชาวมดตะนอยรู้สึกประทับใจส่วนตัวชอบทำกิจกรรมแบบนี้อยู่แล้ว

ด้าน นายอุทิศ สวัสดิ์ รองผอ.ททท.สำนักงานตรัง บอกว่า ทางททท.ตรัง ได้ต่อยอดให้กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเรียนรู้ท่องเที่ยวชุมชนและการทำกิจกรรม CSRของชุมชนในพื้นที่หาดมดตะนอย มีการปลูกป่าโกงกาง ชมการสาธิตธนาคารปูม้า ว่าปูม้าที่นี่เคยประสบปัญหาอย่างไรแล้วตอนนี้กลับมาฟื้นฟูได้อย่างไร ทางชุมชนหาดมดตะนอย ได้พลิกฟื้นหลังจากที่หาปูในทะเลได้ยาก ตอนนี้เขาก็ได้มาค้นพบว่าการทำธนาคารปูการปล่อยลูกปูลงสู่ทะเล โดยเฉพาะปูไข่นอกกระดองนำมาสู่ธนาคารปูม้าแล้วนำไปปล่อยลงสู่ทะเล ตอนนี้ก็สามารถจับปูม้าได้ตลอดทั้งปี

 จากที่ผ่านมาจับปูม้าได้ระยะเวลา 6 เดือนเท่านั้น จากเมื่อก่อนจับปูมาก็ไม่ได้คัดแยกได้มาเท่าไหร่ก็นำไปต้มแล้วก็แกะเนื้อ จึงทำให้ปูไข่และปูไม่ไข่ไปเป็นอาหารทั้งหมด แต่ตอนนี้ได้มีการคัดแยกทำเป็นธนาคารปูม้าขึ้นมาซึ่งถือเป็นความสำเร็จของชุมชนหาดมดตะนอย และยังเรียนรู้เรื่องหญ้าทะเล ซึ่งนำเหง้าของหญ้าทะเลที่ถูกคลื่นซัดช่วงมรสุมนำมาอนุบาลแล้วนำกลับไปปลูกในแหล่งหญ้าเพื่อเพิ่มพื้นที่ของหญ้าทะเลที่เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำใบอ่อนและยังเป็นแหล่งอาหารของพะยูนอีกด้วย โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวในวันนี้มาจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อเมริกาฯลฯ ได้มาเรียนรู้และได้เห็นกิจกรรมที่สามารถต่อยอดสร้างรายได้กับชุมชนได้มากขึ้น

ส่วนทางด้าน ผู้ประกอบการท่องเที่ยว จ.ตรัง บอกว่า นักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มนักเรียนที่เขามาแข่ง scrabble ที่ตรัง เพราะบางคนยังไม่เคยรู้เลยว่าปูที่เขาจับมามีวิธีการอย่างไร ต้นโกงกางและหญ้าทะเลมีลักษณะอย่างไร ที่เป็นแหล่งอาศัยและเป็นอาหารของสัตว์ทะเลพะยูน เด็ก ๆ และผู้ครองที่มาร่วมก็ได้เรียนรู้และจะไปเรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกป่าโกงกาง เพื่อการอนุรักษ์ต่อไป สำหรับการท่องเที่ยวของจังหวัดตรังตอนนี้ซึ่งก่อนหน้านี้จะมีฝนอยู่บ้างทำให้นักท่องเที่ยวยังเข้ามาไม่มาก แต่สำหรับนักท่องเที่ยวจากจังหวัดกระบี่ภูเก็ตก็เริ่มเข้ามาพอสมควรแล้วจังหวัดตรังก็ได้อานิสงส์ เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวเต็มที่เกาะลันตาก็จะไหลลงมาทะเลตรัง จะเห็นได้ว่าในตอนนี้ตามเกาะต่าง ๆ เกาะกระดานถ้ำมรกตนักท่องเที่ยวจะเยอะมาก แต่ในเมืองจะไม่ค่อยเห็นนักท่องเที่ยวมากนัก แต่ถ้าลงไปตามเกาะก็จะเห็นว่าจะมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก และสำหรับวันนี้ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีระหว่างที่เขามาแข่ง scrabble หลังจากแข่งขันเสร็จได้มาท่องเที่ยวได้มาเรียนรู้วิถีชุมชนวิธีการอนุรักษ์ธรรมชาติอีกทั้งยังช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนด้วย…

ภาพ-ข่าว สุนิภา หนองตรุด ผู้สื่อข่าว จ.ตรัง