นายกุศล ทนังผล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหล่อยูง กล่าวว่า บริเวณไหนที่มีหอยพงจำนวนมาก ถือเป็นตัวชี้วัดถึงความสมบูรณ์ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ป่าชายเลน หรือสัตว์ธรรมชาติ ซึ่งบ้านบางจันมีวัตถุดิบ คือ หอยพงจำนวนมาก แต่ขายได้ในราคาต่ำ ชาวบ้านจึงมีแนวคิดอยากแปรรูปผลิตภัณฑ์หอยพงเพื่อเพิ่มมูลค่า สามารถตอบสนองต่อความต้องการและการแข่งขันของตลาด องค์การบริหารส่วนตำบลหล่อยูง จึงได้ประสานกับมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ร่วมมือกับกลุ่มประมงพื้นอนุรักษ์บ้านบางจันตำบลหล่อยูง ร่วมกันเรียนรู้และร่วมพัฒนา เพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพและรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับชุมชน ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็ง จึงได้สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากหอยพง ได้แก่ หอยพงสามรส ข้าวเกรียบหอยพง และปุ๋ยเปลือกหอยพง

 และได้ส่งผลิตภัณฑ์หอยพงเข้าประกวดออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ณ สำนักงานใหญ่ ธนาคารออมสิน กรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าประกวด จำนวน 12 ทีม ซึ่งผลการแข่งขัน ทีมเดอะหอย จากผลิตภัณฑ์ “Bang Chan อาหารแปรรูปจากหอยพง” กลุ่มประมงพื้นบ้านอนุรักษ์บ้านบางจัน คว้ารางวัลชนะเลิศ Best of the Best ประจำปี 2566  ประเภทกินดี ได้รับเงินรางวัล จำนวน 50,000 บาท ถือได้ว่าเป็นการร่วมกันพัฒนา แปรรูป และสร้างมูลค่าเพิ่มให้หอยพง จากราคาถุงละ 20 บาท ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าและสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดพังงาอีกด้วย

 สำหรับโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น เป็นหนึ่งในโครงการของธนาคารที่สนับสนุนให้ทีมนักศึกษานำองค์ความรู้และนวัตกรรมสมัยใหม่ของสถาบันอุดมศึกษามาพัฒนายกระดับคุณภาพภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่นให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่มีศักยภาพ มีมูลค่าเพิ่ม สามารถตอบสนองความต้องการและการแข่งขันของตลาดต่อไป

ภาพ-ข่าว เกศ จ.พังงา