นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจเยี่ยมอุโมงค์ผันน้ำบริเวณเขื่อนแม่กวงอุดมธารา พร้อมรับฟังบรรยายสรุปภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ จากนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ซึ่งนำเสนอว่าสถานการณ์อ่างเก็บน้ำในภาคเหนือปีนี้มีปริมาณน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำลดลงกว่าปีที่ผ่านมา 1,800 ล้าน (ลูกบาศก์เมตร หรือ ลบ.ม) ถือว่าค่อนข้างมาก มาตรการเตรียมความพร้อมคือต้องเก็บน้ำให้มากที่สุด ในระยะยาวคือโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล โดยเขื่อนภูมิพลมีความสำคัญต่อลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด มีความจุ 13,000 ล้าน แต่ยังว่างอยู่ จากการศึกษาพบว่าแม่น้ำยวม ไหลลงแม่น้ำสาละวิน ที่สบเมย (อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน) มีปริมาณน้ำ 3,000 ล้าน และไหลลงสู่ทะเล

“กรมชลประทานมีการศึกษาครบ-ครอบคลุมทุกมิติ ด้านสิ่งแวดล้อมตอนนี้ได้ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และด้านวิศวกรรมก็เสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการทำการมีส่วนร่วมของประชาชนในหลายๆ จุด ในหลายๆชนเผ่า หากโครงการนี้แล้วเสร็จจะผันน้ำจะผันน้ำได้ประมาณปีละ 1,800 ล้าน ลบ.ม. เราใช้ครึ่งหนึ่งเก็บครึ่งหนึ่ง ภายใน 5 ปี เขื่อนภูมิพลจะมีน้ำเต็มตลอด ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี ระยะทางประมาณ 61 กม. จากเขื่อนแม่ยวมไปเขื่อนภูมิพล”นายประพิศ กล่าว

นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงการผลักดันโครงการผันน้ำยวม ที่กรมชลประทานเสนอ โดยให้มีการศึกษาเพื่อดำเนินการต่อ รวมถึงโครงการท่อส่งน้ำหลายๆท่อในเขื่อนแม่กวงที่คาดว่าจะเสร็จแล้ว ยังเหลือ 20 % สุดท้ายจะเร่งรัดภายใน 2 ปี เพื่อเติมเต็มปริมาณน้ำต่างๆ แก้ปัญหาระยะกลาง ระยะยาว

ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่าการที่นายกรัฐมนตรีไปลงพื้นที่เป็นสิ่งที่ดี การฟังข้อมูลจากหน่วยงาน โดยมีการรายงานจากกรมชลประทานในวันนี้ ตนเองมองว่าปัญหาของเขื่อนภูมิพลคือการใช้น้ำจากต้นน้ำอย่างมาก จนไม่มีน้ำไหลลงเขื่อนใหญ่ จำเป็นต้องวิเคราะห์ปัญหานโยบายภาพรวม ไม่ใช่ดูเป็นรายโครงการ เมื่อทำโครงการผันน้ำแตง-งัด-กวง พบว่าเขื่อนเหล่านี้ซึ่งอยู่ลุ่มน้ำปิงตอนบนทำให้น้ำไม่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล นอกจากนี้ยังมีฝายต่างๆ ตลอดลำน้ำปิง ในวันนี้เป็นการอธิบายที่ไม่สัมพันธ์กัน การจัดการน้ำในลุ่มน้ำปิง เจ้าพระยา จำเป็นต้องมองให้ถึงปัจจัยหลักของปัญหา

“ข้อมูลของกรมชล ที่ระบุว่าน้ำยวม มีปริมาณ 3,000 ล้านลบ.ม./ปี  ไหลลงแม่น้ำเมย-สาละวิน เป็นข้อมูลเดิม วันนี้ข้อมูลเปลี่ยนไปแล้ว สถิติน้ำในแม่น้ำยวมในเวลานี้ลดลงอย่างมาก จะคิดว่าจะผันน้ำแบบเดิมความเป็นไปได้ไม่ถูกต้อง แม่น้ำยวมทุกวันนี้น้ำน้อยลง ส่วนรายงานอีไอเอ (การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) การมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบ เห็นได้ชัดว่าอธิบดีอาจจะไม่รู้จักผู้ได้รับผลกระทบ ว่าคือกลุ่มชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง การทำประชาสัมพันธ์ใหม่นั้น เวลานี้หลายหมู่บ้านเริ่มรับทราบข้อมูล และแสดงจุดยืนไม่ต้องการโครงการผันน้ำ “โครงการนี้การลงทุนเป็นแบบร่วมระหว่างรัฐ-เอกชน ศึกษาปัจจุบันยังไม่เห็นรายงาน เพราะอ้างการเก็บค่าใช้น้ำเพื่ออุตสาหกรรมและประปา ที่ต้องนำมาจ่ายให้แก่เอกชนผู้ลงทุน เนื่องจากไม่สามารถเก็บน้ำจากการเกษตรได้เนื่องจากติดกฎหมาย 2 ฉบับ การวางโครงการที่จะให้เอกชนมาลงทุนแบบนี้ โดยไม่รอบคอบแบบนี้ อาจนำไปสู่ค่าโง่ นายกฯควรทบทวนและให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลมาพิจารณาให้รอบด้าน และรับฟังประชาชนให้ครบถ้วน ไม่ควรเร่งรีบ เพราะการลงทุนแสนๆ ล้านจะสร้างหนี้ระยะยาวให้ประเทศ จะทำให้เดือดร้อนกันทุกคน อย่างน้อยดีใจที่วันนี้นายกยังไม่ได้ตัดสินใจทันที” นายหาญณณงค์ กล่าว  

นายวันไชย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าไม่ต้องการให้มีการลักไก่ ชงโครงการผันน้ำยวมให้แก่นายกรัฐมนตรีที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งแบบนี้ ชาวบ้านในพื้นที่มีจุดยืนชัดเจนคัดค้านโครงการนี้ โดยตลอดระยะเวลาอย่างน้อย 6 ปีที่ผ่านมา ทางเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน (จ.เชียงใหม่ จ.ตาก จ.แม่ฮ่องสอน) ได้ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ อาทิ กรมชลประทาน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรี เพราะไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการผันน้ำยวมข้ามลุ่มน้ำดังกล่าวตลอดมา เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความไม่จำเป็นและไม่สอดคล้องกับหลักการจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำ พร้อมทั้งขอให้มีการทบทวนรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากชุมชนและยังมีข้อมูลไม่ตรงกับข้อเท็จจริงจนถูกเรียกว่าอีไอเอร้านลาบ และกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ให้มีการศึกษาที่ครอบคลุมรอบด้านในทุกมิติ และจะเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินที่จะไม่เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า