ที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ องค์การยูนิเซฟประเทศไทยร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ และบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่  จัด “ โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างปลอดภัยของเยาวชนในโรงเรียนและชุมชน นำร่อง ที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่  เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในการสร้างการมีส่วนร่วมของวัยรุ่นยุคปัจจุบัน  โดยมี  นายอรุณไสว ปินอินต๊ะ รองผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ นางรชยา ฮั่นตระกูล หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่    , คุณจอมขวัญ ขวัญยืน เจ้าหน้าที่ฝ่ายการพัฒนาวัยรุ่นและการมีส่วนร่วม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และคุณสุนีย์ ตาฬวัฒน์ ผู้ประสานงานโครงการอาวุโส มูลนิธิรักษ์ไทย ตลอดจนตัวแทนจากสภานักเรียน โรงเรียนมัธยมสันกำแพง และ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ตัวแทนสภาเด็กและเยาวชน สภาเด็กเยาวชนตำบลร้องวัวแดง   สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นางรชยา ฮั่นตระกูล หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่  กล่าวว่า เนื่องจากบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่  มีภารกิจหลักในการส่งเสริมสภาเด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กๆเข้ามามีส่วนร่วมในทุกประเด็น  โดยเฉพาะผลกระทบจากสังคมปัจจุบัน และสื่อโซเซียล สื่อออนไลน์ การคุกคามทางเพศ การบลูลี่ และความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ มีมากขึ้น ดังนั้นในฐานะที่ดูแลเด็กและเยาวชนจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้  และเด็กที่เข้ามามีส่วนร่วมในสภาเด็กจะมีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆเกิดขึ้น และสามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้ ทั้งนี้ปัจจุบันปัญหาเด็กและเยาวชนในจังหวัดเชียงใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญหาการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน ที่มีการเลียนแบบจากสื่อ ดังนั้นเมื่อโครงการนี้เข้ามาเด็กจะรู้ว่าสิ่งไหนความทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ และผู้ปกครองต้องมีส่วนสนับสนุนด้วย    

ด้านคุณจอมขวัญ ขวัญยืน เจ้าหน้าที่ฝ่ายการพัฒนาวัยรุ่นและการมีส่วนร่วม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ ในปัจจุบันปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น การให้เยาวชนเจ้าของปัญหาเข้ามาร่วมคิด ร่วมให้ความเห็น ร่วมตัดสินใจและขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไขในฐานะเจ้าของปัญหาจึงยิ่งมีความสำคัญอย่างมาก ยูนิเซฟได้พัฒนาคู่มือเรื่องการสร้างความเข้าใจร่วมกันในการสร้างการมีส่วนร่วมของวัยรุ่นในกระบวนการตัดสินใจในบริบทเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (Building a Shared Understanding of Adolescent Participation in Decision-Making in East Asia Pacific) เพื่อเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความเข้าใจและทำงานร่วมกันระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก โดยในปีที่ผ่านมาได้อบรมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมไปแล้วกว่า 108 คน และความร่วมมือกับรักษ์ไทยในปีนี้จะได้นำร่องเอาหลักสูตรดังกล่าวมาขับเคลื่อนในพื้นที่โรงเรียนและชุมชน เพื่อให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นและเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้ร่วมกันทำงานกับคุณครูเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในโรงเรียนได้ดียิ่งขึ้น

คุณสุนีย์ ตาฬวัฒน์ ผู้ประสานงานโครงการอาวุโส มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนำร่องนี้จะดำเนินงานใน 12 โรงเรียน และ 6 ชุมชน ใน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน อยุธยา อุบลราชธานี ระยอง และปัตตานี  ซึ่งโรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย 1) โรงเรียนสันกำแพง 2) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ ซึ่งโรงเรียนในจังหวัดลำพูน ประกอบด้วย 1) โรงเรียนน้ำดิบวิทยาคม อ.ป่าซาง 2) โรงเรียนเวียงเจดีย์วิทยา อ.ลี้ ในระหว่างวันที่ 3-5 เมษายน 2566 นี้ทางมูลนิธิรักษ์ไทยได้จัดให้มีการปฐมนิเทศ และอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้กับ เยาวชน ตัวแทนสภานักเรียน สภาเด็กและเยาวชน ครู และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง จำนวน 60 คนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงโครงการฯ และส่งเสริมศักยภาพด้านการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในกระบวนการตัดสินใจของวัยรุ่นทั้งในระดับโรงเรียนและระดับชุมชน ณ ห้องประชุมเอื้องฟ้า โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่

ทั้งนี้ จากรายงานการมีส่วนร่วมของเยาวชนที่จัดทำโดยยูนิเซฟ ในปี 2565 พบว่า การมีส่วนร่วมที่มีความหมายและเป็นระบบของเยาวชนในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกระดับยังพบอุปสรรคในหลายด้าน อาทิ 1) พื้นที่การมีส่วนร่วมที่ยังมีจำกัด 2) ผู้กำหนดนโยบาย องค์กรภาคประชาสังคม และผู้ปฏิบัติงานเด้านยาวชนที่เกี่ยวข้องยังขาดความเข้าใจและทักษะในการสร้างความมีส่วนร่วมของเยาวชน  3) เยาวชนยังขาดความรู้และทักษะในการไปมีส่วนร่วม และเยาวชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมเพื่อตัดสินใจในเรื่องที่จะมีผลกระทบต่อตัวเยาวชนเอง และสุดท้าย 4) การขาดความไว้วางใจระหว่างผู้ใหญ่และเยาวชน

อย่างไรก็ตามโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างปลอดภัยของเยาวชนในโรงเรียนและชุมชน (Promoting safe and inclusive adolescent participation in schools and communities) เป็นความร่วมมือขององค์การยูนิเซฟประเทศไทยกับมูลนิธิรักษ์ไทย เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการมีส่วนร่วมอย่างปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นในโรงเรียนและชุมชนเป้าหมาย โดยทำงานร่วมกับผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบอย่างเช่น ครู ผู้บริหารโรงเรียน และผู้กำหนดนโยบาย ในการออกแบบและดำเนินการการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการเข้าร่วมของเยาวชน