ที่โฮงเฮียนแม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงอีสาน ได้เดินทางมาเรียนรู้ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำโขง โดยมีการจัดงานกิจกรรมคู่เคียงของการประชุมสุดยอดแห่งเอเชียของพันธมิตรรักษาน้ำ (Waterkeeper Alliance) ตลอดจนอ่านคำประกาศไม่เอาเขื่อนแม่น้ำโขงและทั่วประเทศ ซึ่งการลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งนี้มีตัวแทนเครือข่ายองค์กร Water Keeper จากต่างประเทศได้แก่ อินโดนีเซีย กัมพูชา บังกลาเทศ และเนปาล เข้าร่วมสังเกตการณ์

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋”ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า กลุ่มรักษ์เชียงของได้ต่อสู้มาร่วม 20 ปี เพื่อให้มีการยกเลิกการระเบิดแก่งหินตามแม่น้ำโขง ระยะทางมากกว่า 96 กิโลเมตร ใน 15 จุดตามเขตตอนบนของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เพราะทำให้ส่งผลกระทบตามมาอย่างมากมายทั้งทางระบบนิเวศและวิถีชีวิตของคนแถบลุ่มน้ำโขง จนในท้ายที่สุดก็ได้มีคำสั่งให้ยกเลิก ซึ่งถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของทุกคน ” ปัญหาของแม่น้ำโขงไม่หมดไป ยังมีปัญหาเรื่องเขื่อนในจีน ในพื้นที่ตอนบนของประเทศไทยและเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน เรามองเห็นแล้วว่าผลกระทบในแม่น้ำโขงนั้นมาจากการสร้างเขื่อนเป็นหลัก ถึงแม้ในสถานการณ์โลกปัจจุบันจะมีวิกฤติทางสภาพภูมิอากาศหรือที่เรียกว่า Climate change แต่ตัวเร่งปัญหาของแม่น้ำโขงนั้นแท้จริงแล้วคือการสร้างเขื่อนนั่นเอง”ครูตี๋ กล่าว

นายสิริศักดิ์ สะดวก ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงอีสาน กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้มีความต้องการที่จะร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาชนที่มีแนวคิดเดียวกัน ในการปกป้องทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า เพราะเรามองว่าแม่น้ำคือวิถีชีวิตของชุมชนที่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่รัฐมีแนวคิดที่แตกต่างกันกับชุมชนและพยายามเข้าไปควบคุมหรือจัดการน้ำผ่านโครงการต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนทั้งในแม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และวิถีชีวิตเป็นวงกว้าง

หลังจากนั้นนายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์  ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงอีสานและองค์กร Water keeper  ร่วมกันยืนถือป้ายแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อสนับสนุนการคัดค้านเขื่อนแม่น้ำโขง และอ่านคำประกาศ โดยมีเนื้อหาระบุว่า จากกรณีที่มีการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนกว่า 12 เขื่อน และจะมีการสร้างใหม่ 11 เขื่อน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการจัดการน้ำที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม และสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศ ตลอดจนกระทบต่อวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขงและแม่น้ำสาขา ซึ่งบทเรียนการจัดการน้ำในภาคอีสานชี้ให้เห็นชัดว่า โครงการ “โขง ชี มูน” เป็นโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยเมื่อ 30 ปีก่อน ที่พยายามนำเสนอภาพฝันของการขจัดปัญหาความแห้งแล้งในภาคอีสานแบบถาวร แต่เวลาที่ล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน โครงการนี้กลับถูกประชาชนในพื้นที่ นักวิชาการและประชาชนทั่วไป  วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ถึงปัญหาการบริหารจัดการน้ำที่ล้มเหลวของรัฐและความไม่คุ้มค่ากับการลงทุนในหลากหลายมิติ

“บทเรียนกรณีเขื่อนในแม่น้ำโขง เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา แม่น้ำมูน เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร แม่น้ำชี  จากวันนั้นจวบจนวันนี้ภาพฝันกับความจริงกลับไม่เป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจกล่าวอ้างไว้ เพราะการรวมศูนย์อำนาจการจัดการน้ำ และอำนาจการตัดสินใจทางนโยบายถูกกำหนดภายใต้ผู้มีอำนาจที่ไม่ได้เข้าใจภูมินิเวศ  ประชาชนไม่มีส่วนร่วม”คำประกาศระบุ คำประกาศระบุด้วยว่า ข้อเสนอเร่งด่วนคือ 1. หยุดและทบทวนการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขง 2. แก้ไขปัญหาเขื่อนในลุ่มน้ำโขงที่มีอยู่ และแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำโดยการมีส่วนร่วม 3.ต้องมีการศึกษาองค์รวมของลุ่มน้ำโขงโดยการร่วมมือกันในทุกภาคส่วน 4. ไม่เอาโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล

ภาพ-ข่าว ณัฐวัตร ลาพิงค์ จ.เชียงราย