นี่คือภาพมุมสูงบริเวณชุมชนสะพานขาวและสภาพพื้นที่ทางการเกษตรของ อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษที่ถูกน้ำท่วมมานานกว่า 2 สัปดาห์แล้ว  สภาพน้ำท่วมได้ขยายพื้นที่มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากระดับน้ำตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้เกือบทุกพื้นที่ของ จ.ศรีสะเกษ กำลังประสบภัยน้ำท่วมอย่างหนัก  โดยน้ำป่าที่ไหลทะลักมาจากเทือกเขาพนมดงรัก ได้ไหลมาตามลำห้วยสำราญเอ่อล้นเข้าไปท่วมพื้นที่อำเภอต่าง ๆ ที่ลำห้วยสำราญไหลผ่านและน้ำได้ไหลมาท่วมพื้นที่ในเขต อ.เมืองศรีสะเกษ ทำให้มีชุมชนต่าง ๆ ของเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ถูกน้ำท่วมจำนวน 17 ชุมชน มีครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จำนวน 1,801 ครัวเรือน  มีประชาชนอาศัย ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราว จำนวน 1,988 คน  ส่วนหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตอำเภอเมืองศรีสะเกษได้ถูกน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง  ขณะที่น้ำจากลำห้วยต่าง ๆ ของ จ.ศรีสะเกษ ได้เอ่อล้นเข้าไปท่วมพื้นที่ทางการเกษตรและบ้านเรือนของชาวบ้านจำนวนมาก 

นายจำรัส   สวนจันทร์  ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ กล่าวว่า  โครงการชลประทานศรีสะเกษได้ทำการตรวจสถานการณ์น้ำล่าสุดเวลา 12:00 น. วันที่ 2 ต.ค. 65 พบว่า สถานีวัดระดับน้ำแม่น้ำมูล  M 6A    M4   M5   M182  สูงอย่างต่อเนื่อง M5 อำเภอราษีไศล  ระดับ 11.55 ม.  อัตราการเพิ่ม 0.50 เซนติเมตรต่อชั่วโมง M182 อำเภอกันทรารมย์ระดับ 13.16 เมตร  อัตราการเพิ่ม 1.33 เซนติเมตรต่อชั่วโมง M9  อำเภอเมือง  ลำห้วยสำราญ  ระดับ 12.93 เมตร อัตราการลดลง 0.33 เซนติเมตรต่อชั่วโมง    M42  อำเภอห้วยทับทัน  ลำห้วยทับทันสูงขึ้น 9 เซนติเมตรในรอบ 6 ชั่วโมง  อัตราการเพิ่ม 1.50 เซนติเมตรต่อชั่วโมง   ขอให้เพิ่มเฝ้าระวัง  M42  อีกหนึ่งแห่ง เนื่องจากมีอัตราการสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  โดยมีต้นน้ำมาจากจังหวัดสุรินทร์

นายสำรวย  เกษกุล รักษาราชการแทน ผวจ.ศีสะเกษ กล่าวว่า  จังหวัดศรีสะเกษ มีสถานการณ์อุทกภัยและพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยขณะนี้ จำนวน 21  อำเภอ 1 ทม.18 ชุมชน 112(เพิ่ม 2) ตำบล 644 (เพิ่ม10) หมู่บ้าน  ความเสียหายที่เกิดขึ้น ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 18,836 ครัวเรือน 61,244  คน พื้นที่การเกษตร  สิ่งสาธารณประโยชน์   ถูกน้ำท่วมจำนวนมาก  ซึ่งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดศรีสะเกษ ได้ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า พายุดีเปรสชัน “โนรู” มีศูนย์กลางอยู่บริเวณอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงแล้ว ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ส่งผลทำให้ยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษได้แจ้งเตือน ในห้วง 28 ก.ย. 2565 – 22 ต.ค. 2565

โดยจังหวัดศรีสะเกษ จะมีฝนตกหนัก และลมแรง มีฝนตกเป็นบริเวณกว้างทั่วทุกอำเภอ ระวังเกิดน้ำป่าไหลหลากในเขตพื้นที่เสี่ยงเชิงเขาและน้ำไหลเอ่อล้นตลิ่งท่วมขังในเขตพื้นที่ราบลุ่ม ส่งผลกระทบต่อพื้นการเกษตร พื้นที่ชุมชนและเส้นทางคมนาคม//

ภาพ / ข่าว  ศิริเกษ  หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ