กรณีที่เกิดมรสุมฝนฟ้าคะนองร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ภูเก็ตขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-45 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ตั้งแต่กระบี่ลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่งผลให้หลายอำเภอในพื้นที่ จ.กระบี่ ถูกลมพัดพืชผลทางการเกษตรพังเสียหายยับเยิน ประชาชนได้รับผลกระทบจำนวนมาก

โดยในพื้นที่ อ.ลำทับ นางสาวธีรนุช  วุฒิยิ่งยง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ รักษาราชการเกษตรอำเภอลำทับ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอลำทับ กำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลดินอุดม ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายทางการเกษตร (ด้านพืช) เบื้องต้น ที่ประสบภัยพิบัติวาตภัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ตำบลดินอุดม หมู่ที่ 2 ตำบลดินอุดม มีเกษตรกรชาวสวนยาง ได้รับผลกระทบ 3 ราย รวมต้นยางเสียหาย กว่า 300 ต้น

ขณะที่ชาวประมงเลี้ยงปลากระชัง ในพื้นที่อ่าวเหนา ม.3 ต.แหลมสัก อ.อ่าวลึก กระชังปลาได้รับความเสียหายอย่างหนัก ถูกลมพายุพัดจนหลุดแตกกระจายเกลื่อนทะเล เหลือเพียงโครงสร้าง ส่วนปลาเก๋า ปลากระพง ที่เลี้ยงไว้ หายไปในทะเล มีผู้เสียหาย ประมาณ 18 ราย มูลค่าความเสียหายหลายแสนบาท เบื้องต้น ทางเจ้าหน้าที่ประมงอำเภออ่าวลึก ลงตรวจสอบเพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบ

ด้านนายธีรพงศ์  เสล่รัตน์ อ.65 ผู้เลี้ยงปลากระชัง อ่าวเหนา ม.3 บ้านแหลมสัก ต.แหลมสัก กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 ที่ผ่านมา ได้เกิดลมพายุพัดอย่างหนัก ส่งผลให้กระชังปลาของตน และของคนอื่นๆรวมประมาณ 18 ราย ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ปลาที่เลี้ยงไว้ ในกระชังสูญหายไปในทะเลบางรายเป็น 100 ตัว คิดเป็นมูลค่ารวมกันหลายแสนบาท สำหรับของตนเอง เสียหายไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นบาท บางรายเป็นแสนบาท มีทั้งปลาเก๋าและปลากระพง หนักสุดในรอบ 10 ปี…

ภาพ-ข่าว ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง จ.กระบี่ รายงาน