ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร นายจำรัส นาแฉล้ม รอง ผวจ.สกลนคร ประธานเปิดประชุมนิเทศโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 22 กับทางหลวงหมายเลข 241 และ ทางหลวงหมายเลข 2347 (แยกบ้านธาตุนาเวง)  โดยมี ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหาร ผู้นำระดับตำบล หมู่บ้าน องค์กรชุมชน ประชาชนเข้าร่วมประชุม กว่า 300 คน จัดขึ้นโดยกรมทางหลวง กระทรวงคมนาค เนื่องจากจังหวัดสกลนครเป็นจังหวัดที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเป็นลำดับต้น ๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งเป้าหมายการพัฒนามุ่งเน้นให้เป็นแหล่งเกษตรปลอดภัย  การค้า การลงทุน ตลอดจนพัฒนาการท่องเที่ยว สู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ส่งผลให้จังหวัดสกลนครเป็นจุดเชื่อมการคมนาคมขนส่งสู่อาเชียนและจีนตอนใต้ การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อร้องรับปริมาณผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาในจังหวัดสกลนคร

จึงทำให้ต้องมีการเพิ่มศักยภาพในเส้นทางคมนาคมที่จะต้องรองรับได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับการประชุม เริ่มต้นโครงการครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นจุดทางแยกที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่น และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ปัจจุบันทางแยกดังกล่าวเป็นทางแยกสัญญาณไฟจราจร การประชุมจึงมีความสำคัญในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ การรับฟังรายละเอียดและการแสดงความคิดเห็นพร้อมข้อเสนอแนะ ต่อแนวทางการศึกษา จะเป็นประโยชน์ต่อโครงการที่จะนำไปเป็นแนวทางการกำหนดรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสมอย่างครอบคลุมและเกิดผลกระทบต่อผู้อาศัยใกล้เคียงและวิถีชีวิตของชุมชนให้น้อยมากที่สุด ในขณะที่ นายอภิชาติ ตีรสวัสดิชัย ส.ส.สกลนคร เชต 1 พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วตนเห็นด้วยที่จะมีการสร้างวะพานข้ามสี่แยก ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น แต่การออกแบบจะต้องให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เช่น เรื่องน้ำท่วม เรื่องเสียง เพราะมีสถานศึกษาหลายแห่ง

รศ.ดร.เอกพร รักความสุข อดีต ส.ส.สกลนคร และ อดีต รมช.แรงงานและสวัสดิการสังคม กล่าวว่า สกลนครเป็นจังหวัดที่มีประชากรล้านกว่าคนเแต่เราไม่เคยมีสะพานข้ามสี่แยกที่มีการสัญจรไปมาอย่างพลุกพล่าน ดังนั้นความเห็นของประชาชนที่นำเสนอในวันนี้จึงเป็นเรื่องใหม่ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับหลายจังหวัดที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีประเด็นความขัดแย้งเกิดขึ้น ถ้าหากว่าการเริ่มต้นวันนี้ไม่ชัดลึกลงไปในรายละเอียดคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะประเด็นการเวนคืนที่ดิน ตนเห็นหน่วยรัฐมักจะหาทางออกง่ายๆด้วยการเวนคืนที่ดิน บังเอิญในพื้นที่ดังกล่าวนี้มีที่ดินของราชการ 3 ส่วนแต่ส่วนที่ 4 คือส่วนของประชาชนที่เป็นตลาดอยู่ในเวลานี้การเวนคืนที่ดินของคนตัวเล็กๆในสังคม จะทำโครงการจะช้าไปอีก จึงอยากเสนอแนะทางวิศวกรหรือทางผู้ออกแบบต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดและได้ประโยชน์จากโครงการเพราะชุมชนดังกล่าวเป็นชุมชนใหญ่ เชื่อมโยงประวัติศาสตร์และมีสถานศึกษาหลายแห่งด้วย และที่สำคัญการต้องไม่ไปกั้นทางระบายน้ำทางธรรมชาติ ที่ไหลลงสู่หนองหารเพื่อป้องกันน้ำท่วมในชุมชนด้วย

ด้าน นายประสิทธิ์ สาขา ผอ.แขวงทางหลวงสกลนครที่ 1 กล่าวว่า ความคิดเห็นของชาวบ้านแถวนี้หลากหลายแนวความคิดเห็น ส่วนมากมีความคิดอยากจะให้สร้างสร้างแต่ว่าตอนก่อสร้างเราอยากให้คิดถึงผลกระทบของชาวบ้าน ที่ทำการค้าการขายอยู่สองข้างทางที่จะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเขาหรือไม่สำหรับแบบการสำรวจมีอยู่ 3 แบบ แบบที่ 1 สะพานข้ามแยกสัญญาณไฟ แบบที่ 2 สะพานข้ามแยกวงเวียน แบบที่ 3 ทางลอดสัญญาณไฟ อย่างไรก็ตามการประชุมวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นซึ่งยังจะมีการศึกษาอีกต่อไปและจะจัดขึ้นอีก จนสามารถได้ข้อสรุปอีกครั้งโดยยึดโยงประชาชนเป็นที่ตั้ง การประชุมนิเทศจะมีขึ้น รวม 4 ครั้ง เพื่อให้เกิดการตกผลึกวิเคราะห์ผลดีผลเสียของโครงการ การก่อสร้างจะมีขึ้นในอีก 7-8 ปีข้างหน้า ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง งบประมาณอยู่ที่ 900 ล้านบาท

ภาพ-ข่าว วัฒนะ แก้วก่า/สกลนคร