ชุดขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 จัดกำลังพลจาก กองร้อยทหารราบที่ 723 ดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อสร้างป่าเปียกในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ฐานปฏิบัติการดอยลิกิ และพื้นที่บ้านยาม ตำบลแม่นาเติง อำเภอปาย และในพื้นที่ตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน

นอกจากนี้ ชุดขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน  กองร้อยทหารราบที่ 723 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7  จัดกำลังพล ร่วมกับ หน่วยจัดการต้นน้ำแม่หาด สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 และราษฎรโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชาดำริดอยดำ ทำการลาดตระเวนเพื่อป้องกันไฟป่า ณ บริเวณแปลงปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ต้นน้ำ หน่วยจัดการต้นน้ำแม่หาด  ตำบลเวียงน้อย อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยได้พบกลุ่มควันไฟจึงได้ดับไฟ และจัดทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟลุกลาม

ส่วน ชุดขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน กองร้อยทหารราบที่ 711 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 จัดกำลังพล ดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อสร้างป่าเปียกในพื้นที่ ป่าต้นน้ำฐานปฏิบัติการสิงขร ตำบลผาบ่อง , พื้นที่บ้านรักไทย ตำบลหมอกจำแป๋ และบริเวณฐานปฏิบัติการช่องทางห้วยผึ้ง ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน รวมถึงจัดกำลังพลร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าท่าโป่งแดงและราษฎรบ้านปางหมู ร่วมกันจัดทำแนวกันไฟ ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน บริเวณวัดพระธาตุปางหมู ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

และ กองร้อยทหารพรานที่ 3604 ร่วมกับราษฎรบ้านแม่สามแลบ จัดทำแนวกันไฟรอบชุมชน บ้านแม่สามแลบ ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟป่าลุกลามเข้าสู่ชุมชน

ทั้งนี้ การสร้างฝายชะลอน้ำและการจัดทำแนวกันไฟ ถือเป็นการช่วยฟื้นฟูระบบเวศน์ในเขตปา ทำให้เกิดกระบวนการฟื้นฟูตัวเอง ฝายชะลอน้ำคือการปลูกป่าแบบไม่ต้องปลูก กล่าวคือ เมื่อมีแหล่งน้ำสมบูรณ์ อากาศและดินจะมีความชื้นสูง การงอกของเมล็ดพันธ์ที่มีสัตว์เป็นพาหะ และการเติบโตของพันธุ์ไม้ตามธรรมชาติจะฟื้นตัวได้ดี และที่สำคัญแนวฝายชะลอน้ำจะมีความชื้นสูงเมื่อเกิดไฟป่าจะเป็นแนวกันไฟได้ดี