นายสกุล ดำรงเกียรติกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานเปิดและตัดริบบิ้นศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด มินิธัญญารักษ์ บ้านปลันดา โรงพยาบาลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง โดยมีนายปพน ดีไชยเศรษฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง พร้อมด้วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลปะเหลียน หัวหน้าส่วนราชการอำเภอปะเหลียน ตำรวจสภ.ปะเหลียน กำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ร่วมพิธี.

ตามพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดด้วยกลไกสาธารณสุขแทนการดำเนินคดีทางอาญา โดยถือว่าผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา พัฒนาคุณภาพชีวิต และกำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด.

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรังจึงได้ขยายบริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด โดยการจัดตั้งมินิธัญญารักษ์ในโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดตรัง รวมทั้งโรงพยาบาลปะเหลียน เพื่อพัฒนาศักยภาพระบบบริการด้านยาเสพติดให้สามารถบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลธัญญารักษ์ เพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดฟื้นฟูอย่างเบ็ดเสร็จแบบใกล้บ้าน และให้การดูแลบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดที่บำบัดรูปแบบผู้ป่วยนอกไม่สำเร็จ โดยรูปแบบการบำบัดเป็นแบบระยะกลางระยะ 28 วัน.

โรงพยาบาลปะเหลียนเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 50 เตียง ที่มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดและจิตเวชจากการใช้ยาเสพติด ได้มีการปรับปรุงสถานที่ อาคารคลังพัสดุ ศาลาละหมาด และที่จอดรถจักรยานยนต์ของเจ้าหน้าที่ เพื่อเปิดบริการมินิธัญญารักษ์ สามารถรองรับผู้ป่วยรูปแบบระยะเฉียบพลัน/กึ่งเฉียบพลัน ระยะเวลาประมาณ 7 วัน จำนวน 6 เตียง และรูปแบบระยะกลาง ระยะเวลา 14-28 วัน จำนวน 70 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ผ่านการคัดกรองตามแนวทางศรีตรังโมเดลร่วมกับฝ่ายปกครองและตำรวจ ทั้งนี้ศูนย์ฯ ได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2568 เป็นต้นมา

นายสกุล ดำรงเกียรติกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า “ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด มินิธัญญารักษ์ โรงพยาบาลปะเหลียน มีความพร้อมและจัดได้ดี สามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 70 คน ซึ่งเป็นนโยบายของจังหวัดที่เราจะต้องจัดหาโรงพยาบาลให้กับผู้ป่วยที่เกิดจากการเสพยาเสพติด โดยระบบการรักษาผู้ติดยาในระบบโรงพยาบาลเป็นไปตามกรอบของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะต้องรักษาผู้ป่วยจำนวน 28 วัน และคาดหวังว่าเมื่อครบ 28 วันแล้ว ผู้ที่ติดยาเสพติดจะสามารถกลับคืนสู่สังคมได้และทำให้สังคมปลอดภัย”.

ด้านนายปพน ดีไชยเศรษฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวว่า “ตามนโยบายศรีตรังโมเดลของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เราได้มีการ RE x-ray พี่น้องประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปี ถึง 65 ปี โดยทั้งจังหวัดตรังคาดว่ามีประชากรประมาณ 480,000 คน และจากการตรวจปัสสาวะพบว่ามีผู้มีสารเสพติดประมาณ 1% หรือ 4,000-6,000 คน” “เราได้จัดรูปแบบการรักษาโดยเริ่มจากการคัดกรองผู้ป่วยก่อน แบ่งเป็น 4 กลุ่มสี ได้แก่ กลุ่มสีแดง (มีอาการทางจิตชัดเจน) กลุ่มสีส้ม (มีอาการทางจิตแต่ควบคุมได้) กลุ่มสีเหลือง (เคยมีอาการแต่ปัจจุบันไม่มี) และกลุ่มสีเขียว (ไม่มีอาการทางจิต) โดยกลุ่มสีแดงและสีส้มจะได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล 7 วัน แล้วจึงเข้าสู่มินิธัญญารักษ์อีก 28 วัน ส่วนกลุ่มสีเหลืองและสีเขียวจะเข้าสู่มินิธัญญารักษ์โดยตรง” นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกล่าวเพิ่มเติม.

หลังจากการบำบัด 28 วัน จะมีการติดตามผู้ป่วยอย่างน้อยเดือนละครั้ง 5-9 เดือนติดต่อกันเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยสามารถเลิกยาเสพติดได้และกลับเป็นคนดีของสังคมและครอบครัวได้ “จังหวัดตรังมีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดได้ทั้งระบบ ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจในระบบการรักษาของกระทรวงสาธารณสุข เราจะดูแลลูกหลานของพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุดและจะส่งผลดีคืนสู่สังคม” นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกล่าวทิ้งท้าย.
ตรัง สุนิภา หนองตรุด