จังหวัดสกลนครได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่ง 3 ธรรม คือ ธรรมะ ธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี และด้วยความเป็นนครแห่งธรรมชาตินี้เอง จุดเริ่มต้นของการเดินป่า ท่องเที่ยวตามธรรมชาตินี้ อาจารย์วรวิทย์ ตงศิริ จากชมรมอารยธรรมสกลนคร และชาวบ้านห้วยยาง บอกว่ามีการพบประตูแห่งกาลเวลาและภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณทางขึ้นภูผาขาม เทือกเขาภูพาน

จากตัวเมืองสกลนครมุ่งหน้าสู่ภูผาขาม ระยะทางกว่า 40 กิโลเมตร ความมหัศจรรย์ที่พบ ก็คือ ลานหินกว้างที่ธรรมชาติสร้างไว้อย่างสวยงาม เหนือสิ่งอื่นใดที่ซ่อนอยู่ใต้ชะง่อนหิน นั่นก็คือ ภาพเขียนสีโบราณ โดยที่เราต้องมุดเข้าไปแล้วค่อย แหงนหน้าขึ้นมอง หรือต้องนอนดู จะเห็นเป็นภาพเขียนด้วยสีแดงอิฐ เป็นรูปทรงหลากหลาย แต่มีอีกภาพที่มองแล้วคล้ายตัว U หรือคล้ายประตู หรือจะเป็นการสื่อความหมายของประตูกาลเวลา ความมหัศจรรย์ที่สอง เดินเท้าขึ้นเขาก็มาหยุดพักกันที่สำนักสงฆ์ภูผาขาม ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้าน ได้มาถือศีล ปฏิบัติธรรม โดยมีพระมหาภิรมย์ ฐิตธมฺโม เป็นหัวหน้าสำนักสงฆ์ภูผาขาม จากนั้นก็เดินขึ้นเขาไปยังที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นประตูแห่งกาลเวลา จากสำนักสงฆ์มาถึงที่หมาย ราว 1 กิโลเมตร ก็พบกับหินขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายประตู เหมือนภาพเขียนสีที่เรานั่นเอง

โดยสถานที่แห่งนี้ อาจารย์วรวิทย์ ตงศิริ บอกว่า เป็นเสมือนประตูแห่งกาลเวลา ทิวาราตรีเสมอภาคกัน โดยกลางวันกับกลางคืนยาวเท่ากัน 12 ชั่วโมง ตั้งฉากกับดาวเหนือ 90 องศา ซึ่งใน 1 ปี จะพบได้ 2 ครั้ง คือ ช่วงวันที่ 20-23 มีนาคม และวันที่ 22-23 กันยายน ของทุกปี เรียกว่า วันอิควินอซ์” (equinox)


โดยปี 2568 นี้ ขอเชิญชวนไปพิสูจน์พร้อมกันในวันที่ 23 มีนาคม ไปชมความมหัศจรรย์ที่ซ่อนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ซึ่งกิจกรรมจะมีนางรำแต่งกายชุดสาวภูไทมารำถวาย พร้อมทำพิธีบวงสรวงพระธาตุ ในระหว่างทางขึ้นเขาจะมีจุดพักผ่อนเป็นกระต๊อบถึง 9 แห่ง ภูผาขามนี้ จึงเป็นแรงดึงดูดให้ผู้สนใจ ทั้งผู้รักการท่องเที่ยวแบบเดินป่า ค้นหาแหล่งอารยธรรม และสายมู ต้องไม่พลาดที่จะลองมาสัมผัสกันสักครั้ง วันที่ 23 มีนาคม นี้ นายวรวิทย์กล่าว
วัฒนะ แก้วก่า/สกลนคร