ที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรตำบลสานตม อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย นายประยูร อรัญรุท รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานเปิดศูนย์อบรมเกษตรกร โครงการส่งเสริมการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มและการตลาดสินค้าเกษตร กิจกรรม เพิ่มมูลค่าด้านการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (มะคาเดเมีย) ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรตำบลสานตม และแปลงมะคาเดเมียของนายบุณทัน เขาราช ตำบลสานตม อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย โดยมี เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย เข้าร่วมฯ จำนวน 40 ราย นายธีรพงศ์ ฤทธิโชติ เกษตรจังหวัดเลย ให้การตอนรับ

นายประยูร อรัญรุท รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า สำหรับข้อมูลทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกมะคาเดเมีย ปีการผลิต 2567/68 จังหวัดเลย พื้นที่ปลูกทั้งจังหวัด 5410 ไร่ หรือประมาณ 455 ครัวเรือน อำเภอหลักๆ ภูเรือด่านซ้าย นาแห้ว ภูหลวง ท่าลี่ และอำเภอื่นๆ ซึ่งจะมีผลผลิตดีในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 700-800 เมตร กระจายตัวตามอำเภอต่างๆ ออกไป ข้อมูล ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568

มะคาเดเมียเป็นพืชที่ต้องผสมพันธุ์ข้ามต้น ดังนั้นในแปลงจึงต้องมีหลายต้นและหลายสายพันธุ์ โดยในพื้นที่ของจังหวัดเลยมีหลายสายพันธุ์ที่เกษตรกรนำมาปลูก แต่สายพันธุ์ที่แนะนำ ได้แก่ (1.) พันธุ์ 344 (2.) พันธุ์ 741 หรือพันธุ์เชียงใหม่ 700 (3.) พันธุ์ 508 หรือพันธุ์เชียงใหม่ 1000 (4.) พันธุ์ 660 หรือพันธุ์เชียงใหม่ 400 ในปี 2567-2568 ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดเลย มีแผนจะมีการส่งเสริมการปลูกมะคาเดเมีย ภายใต้โครงการโครงการส่งเสริมการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการตลาดสินค้าเกษตร กิจกรรม เพิ่มมูลค่าด้านการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (มะคาเดเมีย) จำนวน 200 ราย ปี 2567 มีพื้นที่ปลูกมะคาเดเมียข้อมูลทะเบียนเกษตรกร 5,410 ไร่ และคาดว่าจะมีพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้นจากการดำเนินโครงการ ไม่น้อยกว่า 1000 ไร่


สำหรับ แหล่งจำหน่ายผลผลิต ที่มีตามอำเภอต่างๆ เช่น อำเภอภูเรือ ไร่ภูหมอก (นางกัญญาณี ทองปั้น บ้านโป่งกวาง ตำบลปลาบ่า) – ไร่ชูจันทร์ (ตำบลสานตม) บ้านไร่ใจรัก (บ้านหินสอ ตำบลปลาบ่า) ผาคูณ (บ้านหนองเสือคราง ตำบลหนองบัว) สวนพุทธมาศต์ (บ้านหินสอ ปลาบ่า) ในอำเภอด่านซ้าย นายสุชาติ บุตรพรม (บ้านนาลานข้าว ตำบลโพนสูง) และอำเภอนาแห้ว นายสมบัติ ทิดชิด (ตำบลแสงภา) นางกัลยณัฏฐ์ พระศรีนาม (บ้านบ่อเมืองน้อย ตำบลแสงภา)

ปัจจุบันทางสำนักงานเกษตรจังหวัดเลย มีการให้ความรู้แก่เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชไร่เป็นมะคาเดเมีย และขยายพื้นที่ปลูกไปยังอำเภอที่มีพื้นที่เหมาะสม เช่น อำเภอท่าลี่ (ตำบลน้ำทูล) อำเภอภูหลวง (ตำบลเลยวังไสย์) อำเภอหนองหิน (ตำบลปวนพุ) เพิ่มขึ้นในอีกหลายๆอำเภอ ในส่วนของด้านเทคโนโลยีด้านอารักขาพืช จะจัดให้มีการส่งเสริมและมีการสนับสนุนแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมม่าให้แก่เกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาหนอนเจาะผลมะคาเดเมีย และส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อความคุมโรคพืชในแปลงมะคาเดเมีย

นายประยูร กล่าวตอนท้ายอีกว่า สำหรับการเติบโต ของ การปลูกและเพิ่มผลผลิต ของ มะคาเดเมียนั้น ในอีก 2 ปีหรือในปี พ.ศ. 2570 มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10-15 % หรือจะมีพื้นที่ปลูกจากเดิม 5410 ไร่เพิ่มขึ้นเป็นถึง 6222 ไร่ และมีพื้นที่ปลูกที่ไม่มีเอกสารอื่นๆอีกประมาณ 3500 ไร่ รวมๆประมาณ 9721 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้ต่อไร่ประมาณ 160,000-180,000 บาทต่อไร่ มีการเติบโตมีเงินหมุนในด้านพืชมะคาเดเมีย 1,749 ล้านบาทในอนาคต และดันเป็นที่ 1 ของประเทศไทยในอนาคตข้างหน้า และปัจจุบันจังหวัดเลยมีการผลักดันให้การปลูกมะคาเดเมียนั้นเป็นเพิ่มมูล่าด้านคาร์บอนเครดิต ลดโลกร้อน และการปลูกทุกพื้นที่ทุกอำเภอนั้นเป็นการลดพื้นที่การเผาป่า เผาพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งทำเกิดมลพิษทางอากาศ ได้อีกทางหนึ่ง

ด้าน นายส่องศิลป์ ทยานศิลป์ อายุ 86 ปี เจ้าของไร่ธารโอบ กล่าวว่า ที่ไร่ปลูกมะคาเดเมียมากว่า 20 ปี ผมบอกว่าอนาคตของมันยังมีอยู่มากมาย ในจังหวัดเลยมีแหล่งรับซื้อที่บ้านเราแท้ๆ ปัจจุบันมีเกษตรกรที่มาจากจังหวัดตาก หรือจังหวัดเชียงใหม่นั้น เอามาขายในพื้นที่อำเภอภูเรือจังหวัดเลย ซึ่งเป็นแหล่งรับซื้อที่ใหญ่ และเท่าที่ทราบความต้องการของตลาดมะคาเดเมียตอนนี้ต่อปี จากผู้รับซื้อนั้น เขาต้องการอยู่ประมาณ 500 ตันต่อปี แต่ปัจจุบันนี้ที่จังหวัดเลยซื้อได้แค่ 120 กว่าตันต่อปี เพราะฉะนั้นยังมีช่องว่างให้เกษตรกร ที่จะผลิตออกมาขายอีกมากมาย ซึ่งพูดได้ว่าตอนนี้ demand และ supply ซึ่งปัจจุบันซัพพลายยังน้อย demand ยังต้องการอีกเยอะแยะ แล้วทำไมเกษตรกรจังหวัดเลยไม่หันมาปลูกมะคาเดเมีย เมื่อปลูกใหม่ๆการดูแลรักษาง่ายมาก บอกได้เลยว่าต้นไม้นี้ คือต้นไม้เทวดาเลี้ยง ถึงเวลาเงินก็หล่นมาใส่หัวเม็ดละ 2 บาท ก็เพราะว่าเราเก็บผลผลิตจากที่มันร่วงลงมา
ภาพ-ข่าว อัมรินทร์ ชูฤทธิ์ จ.เลย