แพทย์สุวรรณ เพ็ชรรุ่ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแพร่ เปิดเผยว่าจากกรณีที่มีผู้เสียชีวิตเมื่อวานนี้ โดยสงสัยเกิดจากอากาศร้อนจัดในพื้นที่จังหวัดแพร่นั้น จากสภาวะอากาศประเทศไทยที่มีอุณหภูมิสูงทำให้อากาศร้อนจัดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการปรับสภาพของร่างกายก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน หากอยู่ในสภาวะโรคลมแดดหรือฮีทสโตรกเป็นภาวะวิกฤตของร่างกาย ที่ไม่สามารถควบคุมความร้อนได้จากการได้รับความร้อนมากเกินไปจากการเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง เช่นการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน อาการจะเริ่มจากอุณหภูมิร่างกายค่อยๆ สูงขึ้น เมื่อเกิน 40 องศาเซลเซียส ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมได้ทำให้รู้สึกผิดปกติ กระสับกระส่ายซึม สับสน ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ตัวแดง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้เมื่อพบผู้ที่มีอาการจากโรคลมแดด ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว

ด้านนายแพทย์วิชิน โชติปฏิเวชกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแพร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มเสี่ยงของโรคลมแดด ได้แก่ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ รวมถึงประชาชนทั่วและผู้ป่วยระยะพักฟื้น สำหรับการป้องกันสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือกลางแจ้งเป็นเวลานาน งดออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือในสภาพที่อุณหภูมิร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่เพิ่มความเสี่ยงของการขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน กาแฟ เหล้า เบียร์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้เสียน้ำทางปัสสาวะในปริมาณสูง หากไม่สามารถชดเชยน้ำได้มากพอ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นลมแดดอย่างไรก็ตามอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น หมวก ร่ม เสื้อผ้าบางคลุมร่างกายที่มีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี ถือเป็นหนึ่งอุปกรณ์ที่ควรพกติดตัวเมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด

ภาพ-ข่าว ธีรพงษ์ ธงออน/แพร่