ที่ อาคาร 17 ชั้น 2  มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คณิศรา ธัญสุนทรสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยมีแขกผู้มีเกียรติ ร่วมแสดงความยินดีกับกิจกรรมนี้

การลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการระหว่าง “วว”  และ “มรภ.อุดรธานี” ตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รวมทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุน ส่งเสริม และเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ชุมชน และสังคมสู่ความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นในการวิจัยและพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการท่องเที่ยวและสินค้าท่องเที่ยว และการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร จุลินทรีย์ อาหาร เครื่องสำอางและเวชสำอางไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ทำงานร่วมกันบนพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบด้วย การพัฒนาห้องปฏิบัติการ การพัฒนาคนสมรรถนะสูงทั้งบุคลากรของมหาวิทยาลัย บุคลากรภาคอุตสาหกรรม SMEs และ ผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวของจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ให้ครบทุกมิติ

ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  บอกว่า แนวทางความร่วมมือเรื่องการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของห้องปฏิบัติการ ทั้งสองหน่วยงาน (Joint lab) คาดว่าเริ่มที่การเริ่มทำงานกันในปี 67 ได้แก่ วิเคราะห์ทดสอบน้ำ วิเคราะห์ทดสอบอาหารและเครื่องดื่ม วิเคราะห์ ดิน ปุ๋ย พืช  วิเคราะห์ทดสอบเครื่องสำอาง การวิเคราะห์บรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ มรภ.อุดรธานี เป็นหน่วยงานให้บริการแบบครบวงจรเพื่อเกิดความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ให้แก่ผู้บริโภคหรือผู้ขอรับบริการในพื้นที่อุตสาหกรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

การพัฒนาคนสมรรถนะสูงทั้งบุคลาการของมหาวิทยาลัย บุคลากรภาคอุตสาหกรรม SMEs และ ผู้ประกอบการในพื้นที่ สำหรับนอกจากการพัฒนาห้องปฏิบัติการแล้ว วว สามารถร่วมเป็นพี่เลี้ยงให้กับบุคลากรของ มรภ.อุดรธานีด้านการพัฒนาที่ปรึกษาเพื่อเข้าสู่การสนับสนุนงาน ภาคอุตสาหกรรม GMP/GAP เพื่อให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพในการส่งออก  และการพัฒนาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม SMEs นักเรียนนักศึกษา เข้าสู่โครงการ Quick win หรือโครงการเร่งด่วนที่เห็นผลเร็วภายใน 3 เดือน เพื่อพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตอบโจทย์การลงทุนของภาคการผลิตและบริการ (UP-SKILL) ในการเสริมสร้างภาพและยกระดับองค์ความรู้และทักษะ Upskill& Reskill ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

สำหรับการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวของจังหวัดอุดรธานีและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มุ่งเน้นการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อรองรับงานพืชสวนโลก ของปี 2569 ซึ่งถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดอุดรธานี พร้อมทั้ง วว.จะดำเนินการเป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาให้กับบุคลากร ผู้ประกอบการและหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้องค์ความรู้และการทำงานร่วมกันทั้งสองหน่วยงานเกิดเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ และใช้ทรัพยากรและบุคลากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป