เครือข่ายชุมชนแม่น้ำโขง และภาคีเครือข่ายความร่วมมือ ได้มีการจัดประชุม “ประชุมเครือข่ายชาวบ้านโขงเหนือ (กก อิง โขง)และลุ่มน้ำโขงอีสาน 7 จังหวัด เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์แม่น้ำโขงร่วมกันทั้ง 8 จังหวัด รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนประเด็นงานวิจัยไทบ้าน ที่เป็นเครื่องมือที่เสริมพลังของชุมชนเพื่อสื่อสารข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายชุมชน นักวิชาการ และภาคประสังคมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในนาม “เครือข่ายคนฮักน้ำโขง ภาคเหนือ-อีสานและลาว” ผู้เข้าร่วม 130 คน ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขงวัดสองพี่น้อง บ้านเชียงแสนน้อย ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ชื่องานว่า “เวียงปรึกษา ดูแลแม่น้ำโขง”

นาย สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสามาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า  แม่น้ำโขงมีการเปลี่ยนแปลงในรอบ 20 ปี มีหลายหน่วยงานที่จะเข้ามาแก้ไข แต่ที่เป็นหลักฐานผลการเปลี่ยนแปลง ผลกระทบที่ได้รับ องค์ความรู้ในอดีตที่ผ่านมามันเป็นเพียงความทรงจำ การทำวิจัยชาวบ้านจะได้บันทึกข้อมูลหลักฐานสำคัญที่จะบอกกล่าวผู้ที่เกี่ยวข้องมาดูแลแม่น้ำโขง การมารวมตัวในครั้งนี้เพื่อเป็นการรวมตัวกันเพื่อส่งเสียงผลกระทบที่ชุมชนได้รับ จากสถานการณ์พัฒนาในแม่น้ำโขง ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่ผ่านมา ทำให้แม่น้ำโขงคือสายน้ำที่มีความสำคัญของโลก มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ หล่อเลี้ยงผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ในภูมิภาคนี้ ก่อเกิดวัฒนธรรม และสร้างอารยธรรมมาอย่างยาวนาน กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา มีโครงการพัฒนาภูมิภาคลุ่มน้ำโขงด้วยการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจำนวนมาก และโครงการระเบิดเกาะแก่งเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ ได้สร้างปัญหาความเปลี่ยนแปลงให้กับระบบนิเวศแม่น้ำโขงอย่างรุนแรง

ปัญหาจากการที่เขื่อนแม่น้ำโขงเก็บกักน้ำจำนวนมหาศาล โดยกำหนดการปิดเปิดเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า จึงสร้างความผันผวนระดับน้ำโขง การลดลงของตะกอน ทำให้มีผลกระทบกับสิ่งมีชีวิต และผู้คนตลอดสายน้ำ   ปัญหาแม่น้ำโขงในภาคเหนือของไทยเกิดขึ้นมายาวนานกว่า 30 ปีสอดคล้องกับช่วงเวลาการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีนที่เกิดขึ้นเขื่อนแรกในปีพ.ศ. 2536 และการสร้างเขื่อนอื่นๆอีกตามมา ในขณะที่นี่ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างผลกระทบระดับภูมิภาค และก็เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศและคนในประเทศไทย และอีกประเทศต่างๆในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง แต่การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมากลับเป็นหน้าที่ของชาวบ้านและภาคประชาสังคมที่ต้องจัดการกันเองตามยถากรรม

นายชวลิต บุญทัน ประมงบ้านห้วยลึก กล่าวว่า  ก่อนมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง ได้เกิดผลกระทบมากมาย แต่ก็ไม่มีใครรับผิดชอบ แต่ก่อนการไปลมองเป็นปกติ ช่วงปลาน้อยก็ได้ปลาน้อย จับปลาใหญ่ตามการขึ้นของปลา ตอนเป็นเด็กก็หาปลาตวยพ่อแม่ บ้านผมหาปลาไปแลกข้าว บ้านผมเป็นภูเขาปลูกข้าวได้น้อย ก็เลยต้องหาปลาไปแลกข้าเป็นหลัก แต่ก่อนมีรายได้เดือนเป็นหมื่นบาท ตอนนี้หาปลาแม่นโขงไม่ได้แล้ว สิบกว่าปีที่ผ่านมา หน้าแล้งก็ปลูกผักกินกันเอง ตอนนี้ต้องซื้อผักกินเองในตลาด แต่ก่อนหาปลูกเองโดยไม่ต้องซื้อตอนนี้มันหายไปแล้วเพราะมีการสร้างตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำโขง เราได้เก็บข้อมูลตลอดว่าปลามันหายไปกี่บาท ปริมาณเรือหายไปกี่ลำ รายได้จากปลาหายไปเท่าใด เราได้ทำเป็นข้อมูล ไว้ รายได้ไม่คุ้มเรือหายไป แต่ก่อนหาปลาได้ทุกวัน ตอนนี้สามวันได้ปลาตัวเดียว

จันยา จันทร์ทิพย์ ตัวแทนแม่หญิงอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนแม่หญิงที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง ผลกระทบจากเราเป็นเด็กมาจนถึงปัจจุบันเปรียบเทียบก็แตกต่างกันมาก ไม่เฉพาะบ้านห้วยลึก แต่ก่อนแม่เราจกไกหาปลาขายส่งลูกเรียนจนจบปริญญา ตอนนี้เปลี่ยนไปเพราะน้ำขึ้นๆลงๆ รายได้ตอนนี้ส่วนนี้หายไป ก็มีคำถามจากคนนอกว่ามั่นใจได้ยังไงว่าผลกระทบมันเกิดจากการสร้างเขื่อน เราก็ไม่สามารถตอบเขาได้ อยากให้ทรัพยากรแม่น้ำโขงเหมือนเดิมเหมือนในอดีตที่เราพึ่งพาได้

 นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ได้กล่าวถึงงานวิจัยว่า งานวิจัยหรือเรื่ององค์ความรู้ เป็นเรื่องสำคัญของคนเราที่สุดที่ให้คนเราเดินได้งดงาม เป็นเรื่องสำคัญของคนทุกยุค ก็ต้องมีความรู้ การจะดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นเรื่องสำคัญ การเดินไปข้างหน้าก็เดินไปข้างหน้าลำบากเหมือคนหลับตาเดินก็ลำบาก การศึกษาองค์ความรู้คือการศึกษาความอุดมสมบูรณ์ที่ผ่านมาจากอดีต ที่สำคัญมันคือหลักฐานยืนยันสิ่งที่เราทำกันมา ปัจจุบันมันเป็นหลักฐาน ตอนนี้ผมกล้าพูดได้เลยครับว่ามันมาจากเขื่อน จากการศึกษาตั้งแต่ปี2547 เรากล้ายืนนันได้ว่ามันมาจากเขื่อน หลักฐานที่ยืนยันได้เช่นระดับน้ำขึ้นในแม่น้ำโขงเรารู้ได้ว่าเกิดจากเขื่อน ดามเทียมก็มีการมีข้อมูลสำคัญยืนยัน การศึกษาองค์ความรู้ต้องมุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้ได้ การสู้ของเราก็ต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง องค์ความรู้สำคัญนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง มุ่งหานวัตกรรมหาวิธีคิดและการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ การทำวิจัยคือการพัฒนาศักยภาพชุมชนเราด้วย

คุณอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ตัวแทนเครือข่ายอีสาน กล่าวว่า ในนามสภาเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนภาคอีสาน น้ำโขงไหลผ่าน 7 จังหวัด ก่อนที่เราจะมาเป็นเครือข่ายทำงานร่วมกันมาก่อน จากผลกระทบในแม่น้ำโขงและน้ำสาขาที่สำคัญเช่นแม่น้ำสงคราม แม่น้ำเลย ได้รับผลกระทบทั้งหมดทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่มีใครมาช่วยเราได้ ในปีพ.ศ.2551 ฝนตกไม่เยอะแต่น้ำท่วม น้ำท่วมแต่เอาไม่ทันหนองคายขึ้นเกือบ 2 เมตร ความเสียหายตั้ง 18 ล้าน การเสียหายต้องร้อยเปอร์เซ็นถึงจะเรียกกว่าเสียหาย หนักสุดปีพ.ศ.2553 น้ำโขงแห้งสามารถเดินข้ามได้ ช่วงนั้นได้เชิญทางครูตี๋มาให้คำแนะนำ และก็ตั้งสภาองค์กรชุมชน64 ตำบลเพื่อมาพูดคุยกัน ตอนนนั้นยังไม่รู้ว่ามีเขื่อนที่จีน ก็ได้ก็รับข้อมูลจากครูตี๋ ปี2556-2557 เริ่มทำงานวิจัยชาวบ้าน ติดตามผลกระทบจากแม่น้ำโขง ตอนแรกเริ่มหาผลกระทบจากชุมชน คนหาปลา ขุดทอง เกษตร เริ่มรู้จักเครือข่ายในลุ่มน้ำโขง มีการแลกเปลี่ยนทำงานวิจัยชาวบ้าน เห็นด้วยกับการศึกษาอดีต รับรู้ปัจจุบัน แล้วจะทำยังไงในอนาคต จึงได้ทำการศึกษากัน เริ่มศึกษาเรื่องเขื่อนไซยะบุรี ห่างจากเชียงคาน 300 กิโลเมตร น้ำมาเป็นคลื่น เรามีคำถามกับทีมสร้างเขื่อนแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบจากเขา การแก้ไขแม่น้ำโขงเราต้องร่วมมือกันสื่อสารกัน

โดยหลังจากที่ได้มีการเสวนาแล้วได้มีการประกาศเจตนารมณ์ เสียงจากคนหาปลาโดยมีเนื้อหาว่า “นับเป็นเวลากว่า 20 ปี แม่น้ำโขงได้เกิดการเปลี่ยนแปลงเริ่มจากการขึ้น-ลงผิดปกติ ไม่เป็นไปตามฤดูกาล เกิดความผันผวน แล้งฤดูฝน ท่วมฤดูแล้ง ส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตของพืชพรรณ และสัตว์น้ำ อันมีสาเหตุหลักจากการพัฒนาแม่น้ำโขงที่ให้ความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ที่มากเกิน จนก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตของประชาชนริมฝั่งโขง  ก่อนการเปลี่ยนแปลง พวกเราชาวประมงซึ่งหากินอยู่ในแม่น้ำโขงแทบทุกวัน ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่า ความอุดมสมบูรณ์ที่เคยมี เช่น พืช-ผัก สมุนไพรที่ขึ้นตามธรรมชาติตามชายฝั่ง ตะกอนดินและแปลงเพาะปลูกริมฝั่ง-หาดดอน จำนวนปลา-ชนิดของปลาอันหลากหลาย ได้หายไปจากแม่น้ำโขง แม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลหล่อเลี้ยงผู้คนมาหลายชั่วคน ไม่สามารถพึ่งพาได้เหมือนในอดีต มีหลายครั้งที่บางวันก็หาปลาไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว จากที่เคยพอกิน มีรายได้หลักร้อย หลักพัน และหลักหมื่นต่อปี เป็นวิถีที่มีความสุขใจตลอดมา ได้เลือนหายไป  เรายังอดทน ที่จะต้องหาปลาให้พอกินในบางวัน เพียงใช้ชีวิตเพราะความผูกพันที่มีต่อแม่น้ำโขง โดยไม่เคยร้องขอความช่วยเหลือจากใคร แม้จะรับรู้ว่าแม่น้ำโขงมีข้อตกลงร่วมของหลายประเทศ ที่ได้เอ่ยถึง หรือมีนโยบายในการคุ้มครอง ดูแลรักษา การอธิบายประโยชน์ของรัฐจากการพัฒนาแม่น้ำโขง เรารับรู้ว่า แม่น้ำโขงในปัจจุบันได้ทำหน้าที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าให้กับภาคอุตสาหกรรม การเดินเรือสินค้าขนาดใหญ่ ถนนริมฝั่งแม่น้ำเพื่อการท่องเที่ยว เส้นทางของเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีรายได้มากมายมหาศาล กว่ารายได้ของชาวประมง คนเล็กคนน้อยที่ทำมาหากินในแม่น้ำโขง ในมุมมองของคนเล็กคนน้อยอย่างพวกเราชาวบ้าน คือ ความต้องการที่จะเห็นแม่น้ำโขง ได้กลับมาเป็นที่พึ่งของพวกเราเพียงครึ่งหนึ่งของอดีต อีกครึ่งเป็นประโยชน์ของการพัฒนา โดยการคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอดีต รับผิดชอบ และฟื้นฟูความเสียหายที่มีต่อพืชพรรณ สัตว์น้ำ และวิถีของผู้คน สร้างจุดร่วม เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการพัฒนา แม้เราจะมีมุมมองต่างกัน แต่ความอุดมสมบูรณ์ควรดำรงอยู่ “เมื่อมีการใช้ประโยชน์ก็ต้องมีการดูแลรักษาร่วมกัน” เพื่อให้เรา- ประชาชนริมฝั่งโขงได้ดำรงวิถีอย่างสันติและยั่งยืน

ภาพ-ข่าว ณัฐวัตร ลาพิงค์/