จากกรณีที่ นศ.คณะพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาศรีสะเกษ   ได้เข้าร้องทุกข์กับ นายบุญชวัฒน์ ปัญช์ณ์ญาแดง ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดศรีสะเกษ   เพื่อขอความช่วยเหลือเนื่องจากได้ยื่นเรื่องขอกู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)นานถึง 8 เดือนแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้รับการอนุมัติให้กู้เงินได้แต่อย่างใด ทำให้ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากว่า ไม่มีเงินค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพและค่าเล่าเรียน ต่อมา  นายสุรชาติ  ชาญประดิษฐ์ ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 2 พรรคเพื่อไทย และคณะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.ศรีสะเกษ  ได้ขอให้ผู้ใหญ่ของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายเศรษฐา  ทวีสิน  นายก รมต.และ รมว.กระทรวงการคลัง ได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือนักศึกษาพยาบาลดังกล่าวอย่างเร่งด่วนที่สุด ล่าสุด นายเรืองศักดิ์  สุวารี  อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของ กยศ. และตัวแทนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายบุญชวัฒน์ ปัญช์ณ์ญาแดง ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดศรีสะเกษ   ได้เดินทางมาเข้าร่วมประชุมกับ น.ส.ฐณิชา สาลีพันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาศรีสะเกษ และคณะนักศึกษาทุกคนที่ได้ขอกู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)  โดยมีตัวแทนของผู้ปกครองนักศึกษาส่วนหนึ่งมาร่วมประชุมเพื่อรับทราบปัญหาติดขัดเรื่องที่ กยศ.ไม่อนุมัติเงินกู้ยืมเรียนให้กับบุตรหลานของพวกตนด้วย  ตามข่าวที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น

ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่บ้านเลขที่ 3/1 หมู่ 5   บ้านหนองอีกว่าง ต.คำเนียม อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นบ้านของ นางจันมี  บุญยืน  อายุ  55 ปี อาศัยอยู่กับ นายสมศรี  พลศักดิ์  อายุ  81 ปี  ซึ่งเป็นพ่อที่ป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตก และ นายวีระพล  อายุ  19  ปี เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาศรีสะเกษ โดยนางจันมี มีอาชีพทำนา  และเป็นเสาหลักต้องหาเงินเพื่อใช้จ่ายในครอบครัว ฐานะค่อนข้างยากจน ซึ่งภาระที่ต้องรับผิดชอบดูแลพ่อที่ป่วยหนัก และต้องหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสียให้ลูกชายไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยนั้นเป็นภาระที่แบกหนักมาก  นางจันมี ได้พากันนั่งปรึกษาหารือกับ นายวีระพล ลูกชายและ นายสมศรี พ่อที่ป่วยหนักช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เพื่อหาแนวทางที่จะต่อสู้ชีวิตหาเงินมาใช้จ่ายในแต่ละวัน

นางจันมี  บุญยืน  อายุ  55 ปี  กล่าวว่า ขณะนี้ชีวิตของพวกตนใกล้จะถึงทางตันแล้ว  เนื่องจากว่า ภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละวันจะต้องมีเงินเพื่อใช้จ่ายทุกวัน ทำให้ตนต้องทำงานรับจ้างทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินมา  และเพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายในครอบครัว  ตนจึงได้นำเอาที่นาไปเป็นประกันเพื่อทำการกู้เงินจาก ธกส.มาจำนวน 300,000  บาท  จะต้องจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยปีละ 40,000 บาทให้กับ ธกส. เพื่อนำเอาเงินกู้จำนวน 300,000 บาทมาเป็นค่ารักษาพยาบาล นายสมศรี ที่ป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตก และเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนของ นายวีระพล  ลูกชายของตนที่กำลังเข้าเรียนชั้นปีที่ 1 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาศรีสะเกษ ซึ่งขณะนี้เงินที่กู้ยืมมาจำนวน 300,000 บาทได้ใช้จ่ายไปหมดแล้ว  ตนจึงได้ให้นายวีระพล  ลูกชายของตนไปยื่นเรื่องขอกู้เงินจาก กยศ. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพและเป็นค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียน ซึ่งตนทราบว่า ขณะนี้นายวีระพล กับเพื่อน ๆ ในมหาวิทยาลัยเดียวกันยังไม่ได้รับการอนุมัติเงินกู้ยืมเรียนแต่อย่างใด ทั้งที่ได้ยื่นเรื่องกู้ไปนานหลายเดือนแล้ว ตนจึงฝากถึง นายเศรษฐา ทวีสิน  นายก รมต.และ รมว.กระทรวงการคลัง  ได้โปรดเห็นใจช่วยเหลือลูกชาวบ้านที่ต้องการเรียนหนังสือ โดยการเร่งรัดให้ กยศ.อนุมัติเงินกู้ให้ลูกชายของตนและเพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยเดียวกันทุกคนโดยด่วนด้วย  เพื่อที่เด็กจะได้มีกำลังใจในการเรียนหนังสือให้สำเร็จการศึกษาจะได้เป็นเสาหลักในการดูแลแม่และญาติพี่น้องที่แก่ชรา และเพื่อจะได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป

ที่มหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ  ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ  และคณะผู้บริหารระดับสูงของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)  และ เจ้าหน้าที่ กยศ. เจ้าหน้าที่ของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดศรีสะเกษ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้เดินทางมาพบกับ น.ส.ฐณิชา สาลีพันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาศรีสะเกษและคณะอาจารย์ เพื่อร่วมประชุมหารือกันเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่นักศึกษาไม่สามารถกู้เงินจาก กยศ.ได้ ซึ่งที่ประชุมได้นำเอาปัญหาต่างๆ ที่ติดขัดมาหารือกัน เช่น ปัญหานักศึกษากรอกข้อมูลในระบบไม่ครบถ้วน ไม่มีชื่อพ่อแม่ เป็นต้น เพื่อจะได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาให้หมดสิ้นไป จากนั้น  ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา และคณะ ได้เยี่ยมชมอาคารเรียนและสถานที่ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาศรีสะเกษ  ซึ่งมีการจัดตกแต่งอาคารสถานที่อย่างสวยงาม ทำให้เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนเป็นอย่างดีเยี่ยม

น.ส.ฐณิชา สาลีพันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาศรีสะเกษ กล่าวว่า ในส่วนการคัดกรองผู้กู้เงิน กยศ.นั้น มหาวิทยาลัยก็ดำเนินการตามหน้าที่โดยได้สัมภาษณ์นักศึกษาและจากการสัมภาษณ์ก็เป็นที่สะเทือนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ปกครองในเอกสารของนักศึกษากับข้อเท็จจริงที่นักศึกษาอาศัยอยู่ด้วยนั้น บุคคลนั้นไม่ใช่มารดาที่แท้จริง ในฐานะอาจารย์ก็สอบถามว่าทำไมชื่อมารดาในระบบทะเบียนราษฎร์เป็นอีกบุคคลหนึ่งหากถือตามทะเบียนบ้าน นักศึกษาก็ยืนยันว่าบุคคลที่ตนเองอาศัยอยู่ด้วยนี้คือมารดา แต่ท้ายที่สุดในที่สัมภาษณ์มารดาที่เลี้ยงดูมาตั้งแต่เกิดปรากฏว่าไม่ใช่มารดาที่แท้จริงเป็นมารดาที่ได้เก็บนักศึกษาคนนี้มาเลี้ยงและอุปการะเลี้ยงดู และนักศึกษาได้มาทราบข้อเท็จจริงในวันที่อาจารย์เค้นถามความจริงเพื่อให้มีความสอดคล้องหรือตรงกับเอกสารการกู้ยืม นับว่าเป็นความสะเทือนใจของคนที่เป็นอาจารย์รับผิดชอบดูแลนักศึกษาเป็นอย่างมาก เมื่อข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏออกมาทำให้ การกรอกข้อมูลในระบบกู้ยืมเงินของ กยศ.อาจจะไม่ชัดเจน

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตนมาในวันนี้มาในฐานะคนกลางที่ต้องการมาช่วยในการประสานงานเพื่อให้การแก้ไขปัญหาติดขัดเรื่องการกู้ยืมเงินของ กยศ.ได้หมดสิ้นไป ซึ่งปัญหานักศึกษาที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติเงินกู้ยืมเรียนนั้น หากมีการไม่ถูกต้องตามระเบียบของ กยศ. ตนก็ขอให้ทาง กยศ.ได้ประสานงานกับอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา เพื่อจะได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาทุกเกิดขึ้น และทุกอย่างจะต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบ ซึ่งปัญหาที่ทาง กยศ.ตรวจพบว่า นักศึกษามีงานทำแล้วทำให้ผิดระเบียบไม่สามารถอนุมัติเงินกู้ยืมได้นั้น ตนก็ให้ทำการตรวจสอบในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ  เนื่องจากว่า เด็กนักศึกษาอาจจะรอเงินกู้ยืมเรียนนานเกินไป จึงได้ไปหางานทำเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพและอาจจะทำให้ชื่อนักศึกษาค้างในระบบประกันสังคมและระบบต่าง ๆ ทำให้หมดสิทธิ์กู้ยืมเงิน กยศ.ก็ได้ ดังนั้น ตนจึงขอให้ทำการเคลียร์ระบบเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง  และหากพบว่า นักศึกษามีสิทธิ์ตามระเบียบก็จะสามารถยื่นเรื่องกู้ยืมเงินใหม่ตามสิทธิ์ได้ต่อไป ซึ่งจะทำให้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้หมดสิ้นไป  ตนได้ขอให้ กยศ.ประสานงานกับอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา เพื่อร่วมกันดำเนินการแก้ไขเรื่องที่ยังไม่เรียบร้อยนี้ให้แล้วเสร็จอย่างเร่งด่วน เพื่อที่จะได้อนุมัติเงินกู้ให้กับนักศึกษาที่ขอกู้เงินยืมเรียนต่อไป

นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า  จากการที่ได้มาร่วมในการประชุมแก้ไขปัญหาเรื่องนี้แล้ว ทำให้ตนได้รับทราบปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น  ซึ่งเป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ โดย กยศ.และทางมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาจะต้องร่วมกันในการแก้ไขปัญหา  ซึ่งหากปล่อยให้ปัญหาเรื้อรังเนิ่นนานไป  อาจจะส่งกระทบต่อนักศึกษามากยิ่งขึ้นกว่าเดิม  เพราะว่าตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ  นโยบายของรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงยุติธรรมได้กำหนดไว้ว่า เด็กทุกคนที่สนใจเรียน จะต้องได้เรียนอย่างเต็มที่ โดยการสนับสนุนของ กยศ. เป็นกำลังเงินให้ เพราะว่า หากนักศึกษาไม่มีเงินเรียนหนังสือ พ่อแม่ก็อาจจะต้องหาวิธีในการหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนให้กับลูกหลาน และอาจจะต้องไปหากู้เงินนอกระบบจากนายทุนเงินกู้  ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง เนื่องจากว่ารัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเงินกู้นอกระบบที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนให้หมดสิ้นไป

 ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า  จากการที่ กยศ.ได้ตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่า กลุ่มนักศึกษาที่ยังไม่ได้รับอนุมัติการให้เงินกู้ยืมจากกองทุนจากที่คงค้าง จำนวน 6,823 ราย โดยกองทุนได้อนุมัติการกู้ยืมให้นักศึกษาไปแล้ว จำนวน 2,211 ราย นักศึกษาแจ้งว่าไม่กู้ยืม จำนวน 69 ราย นักศึกษาขาดคุณสมบัติเพราะมีงานทำ จำนวน 2,443 ราย สถานศึกษาแจ้งว่าไม่ผ่านคุณสมบัติ จำนวน 504 ราย คงเหลือรออนุมัติอีกจำนวน 1,596 ราย ซึ่งกองทุนได้ประสานงานกับมหาวิทยาลัยและนักศึกษาให้ยื่นข้อมูลในระบบเพิ่มเติม ซึ่งนักศึกษาที่รออนุมัติและได้ยื่นข้อมูลในระบบครบถ้วนแล้ว  ทาง กยศ.จะพิจารณาให้กู้ยืมโดยนักศึกษาจะได้รับค่าครองชีพภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติ โดย กยศ.ได้ยืนยันว่า นักศึกษาทุกคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีลักษณะต้องห้ามและดำเนินการตามระเบียบที่กองทุนกำหนดจะมีสิทธิได้กู้ยืมอย่างแน่นอน

ภาพ / ข่าว  ศิริเกษ  หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ