ที่มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี น.ส.แจง (นามสมมุติ) พี่สาว อายุ 57 ปี เดินทางมา จ.นครราชสีมา เข้าร้องทุกข์ต่อ นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาฯ ขอความช่วยเหลือ น.ส.จี (นามสมมุติ) น้องสาว อายุ 49 ปี ถูกหลอกไปทำงานนวดแผนไทย ที่รัฐดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค.65 ก่อนจะหายไปติดต่อไม่ได้ ผ่านไปร่วม 9 เดือน วันที่ 13 ก.ค.66 ญาติได้รับการติดต่อจากคนไทยในเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แจ้งว่าน้องสาวเสียชีวิตแล้วตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค.65 หลังเดินทางไปดูไบได้ 3 วัน ครอบครัวจึงได้แจ้งขอความช่วยเหลือมายังมูลนิธิปวีณาฯ อยากทราบสาเหตุการเสียชีวิตของน้องสาวและขอนำศพกลับมาบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิด ขอให้มูลนิธิปวีณาฯ ช่วยเหลือ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

หลังรับเรื่อง นางปวีณา ได้ประสาน นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล เพื่อขอความช่วยเหลือครอบครัวในการตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตและการดำเนินการรับศพกลับจากรัฐดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาประเทศไทย โดยนางปวีณา  หงสกุล  ประธานมูลนิธิปวีณาฯ จะเดินทางพาพี่สาวผู้เสียชีวิตเข้าพบ นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล วันพุธที่ 3 ส.ค. 66 เวลา 16.00 น. ที่กรมการกงสุลกระทรวงการต่างประเทศ  ถนนแจ้งวัฒนะ  

น.ส.แจง พี่สาว กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทราบจากน้องเขยว่า น.ส.จี น้องสาวได้รับการชักชวนไปทำงานนวดแผนไทยที่ดูไบโดยหวังว่าจะได้เงินมาก และหลงเชื่อเดินทางไปเมื่อวันที่ 3 ต.ค.65 คนเดียว จากนั้นก็ไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย ไม่คิดว่าการเดินทางไปครั้งนี้ของน้องสาวต้องไปจบชีวิตในต่างแดน 

นางปวีณา เตือนภัยผู้ที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศแล้วไม่บอกพ่อแม่ ญาติ สุดท้าย เกิดปัญหาถูกหลอกบังคับค้าประเวณี หลอกทำงานผิดกฎหมาย ไม่สามาถช่วยเหลือตัวเองได้ มาแจ้งมูลนิธิปวีณาฯ ขอความช่วยเหลือจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเราก็ไม่ได้ช่วยได้เสมอไป จึงขอให้ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนจะตัดสินใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เพราะไม่มีเงิน ไม่มีทองที่จะให้ไปขุด ดังคาดหวังไว้ และยังถูกบังคับทำงาน เงินก็ไม่ได้ดั่งหวัง เมื่อไม่ทำงานก็ถูกทำร้ายร่างกาย บางรายถูกบังคับเสพยาเสพติดอีกด้วย อย่าเชื่อคนง่าย ว่าจะได้เงินมาก สุดท้ายถูกหลอก เงินก็ไม่ได้ ต้องเป็นหนี้ บางคนเอาชีวิตไม่รอด 

นางปวีณา สรุปสถิติมูลนิธิปวีณาฯ ได้รับเรื่องร้องทุกข์คนไทยถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศ ค้ามนุษย์/ค้าประเวณี ปี 2565 จำนวน 255 ราย ปี 2566 ตั้งแต่ 2 ม.ค. – 26 ก.ค. 66 จำนวน 214 ราย ส่วนใหญ่เป็นประเทศ  1.เมียนมาร์ 60 ราย, 2.ดูไบ 38 ราย, 3.บาห์เรน 16 ราย, 4.กัมพูชา 17 ราย, มาเลเซีย 8 ราย และประเทศอื่นๆ อีก 75 ราย อาทิ ประเทศอินเดีย, ศรีลังกา, เกาหลี, กาน่า โดยกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์จะมีวิธีแยบยลต่างๆ โฆษณาตามสื่อออนไลน์อ้างว่า งานสบาย รายได้ดี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง พอหลงเชื่อเดินทางไปสุดท้ายต้องเป็นหนี้หลายแสนบาท ถูกกักขัง ทำร้าย บังคับทำงานผิดกฎหมาย เรียกค่าไถ่ ซึ่งการเข้าเมืองผิดกฎหมาย และทำงานในต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย ต้องได้รับโทษตามกฎหมายประเทศนั้นๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีความยากในการประสานการช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่อาจช่วยเหลือไม่ได้ทุกคน

ภาพ-ข่าว THAIREFERENCE