สืบเนื่องจากนายเอ และนางบี สองสามีภรรยา (ทั้งสองนามสมมุติ) ร้องทุกข์มายังมูลนิธิปวีณาฯ แจ้งว่า ลูกสาววัย 10 เดือนเสียชีวิตหลังไปฝากเลี้ยงซึ่งเชื่อว่าลูกถูกทำร้าย เนื่องจากพ่อแม่ทั้งสองคนเป็นพนักงานโรงงาน ต้องทำงานเป็นกะจึงได้นำ น้องซี (นามสมมุติ) ลูกสาววัย 10 เดือน ไปฝากเลี้ยงกับนางน้อย (นามสมมุติ) ที่บ้านรับเลี้ยงเด็ก ที่เห็นโพสต์ประกาศรับเลี้ยงเด็กในเฟซบุ๊กซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน โดยค่าจ้างฝากประจำกินนอนเดือนละ 5 พันบาท ตนจึงตัดสินใจนำลูกไปฝากเลี้ยงตั้งแต่เดือนเม.ย.66 ที่

กระทั่งคืนวันที่ 2 ต่อเนื่องวันที่ 3 มิ.ย. จู่ๆ พี่เลี้ยงโทรมาบอกว่า น้องซีเป็นอะไรไม่รู้อาการไม่ดีให้แม่รีบมาพาลูกไปโรงพยาบาลด่วน ระหว่างที่กำลังเดินทางไปที่บ้านรับเลี้ยงเด็กก็ได้ประสานรถกู้ชีพ 1669 ไปรับด้วย แม่ไปถึงก่อนเห็นลูกตาค้างไม่ได้สติก็ตกใจมาก เมื่อรถกู้ชีพมาถึงเจ้าหน้าที่จึงรีบนำเด็กขึ้นรถโดยมีแม่และพี่เลี้ยงไปด้วย เจ้าหน้าที่ให้ยากระตุ้นหัวใจแต่น้องไม่มีสัญญาณชีพแล้ว เมื่อไปถึงโรงพยาบาลแพทย์จึงได้กระตุ้นหัวใจน้องอีกครั้งแต่ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตลูกไว้ได้ นางบี ผู้เป็นแม่ เล่าอีกว่า เมื่อตนถามถึงรอยช้ำที่แผ่น หน้าผาก และบนศีรษะของลูกว่าเกิดจากอะไร ทางพี่เลี้ยงบอกเพียงว่า ตอน 5 โมงเย็น ขณะที่น้องซีนั่งอยู่บนรถหัดเดิน ล้อรถเกิดหักทำให้รถคว่ำและน้องหกล้ม ซึ่งตนก็สงสัยว่าช่วง 1 ทุ่ม ตนได้วิดีโอคอลคุยกับลูกก็ไม่พบความผิดปกติอะไร จากนั้นตนกับสามีจึงได้ไปแจ้งความที่สภ.หนองขาม ในคืนนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งศพน้องซีไปชันสูตรที่นิติเวช รพ.ตำรวจ ในเช้าวันที่ 3 มิ.ย.66 ซึ่งผลชันสูตรในใบมรณบัตร ระบุว่า เลือดออกในช่องท้องจากขั้วลำไส้เล็กฉีกขาด และอักเสบจากการกระแทกของแข็งที่ไม่มีคม ซึ่งตนกับสามีติดใจสาเหตุการเสียชีวิตที่ไม่ตรงกับคำให้การของพี่เลี้ยง จึงขอให้มูลนิธิปวีณาฯ ช่วยให้ความเป็นธรรม คลี่ปมปริศนาหาตัวผู้กระทำกับลูกมาดำเนินคดี

พ.ต.อ.เกริกศิษฐ์ เนียมนัดฐ์ ผกก.สภ.หนองขาม ได้ขออนุมัติศาลออกหมายจับพี่เลี้ยงและควบคุมตัวมาทำการสอบสวน เบื้องต้นพี่เลี้ยงให้การรับสารภาพอ้างว่าเกิดจากความประมาทของตนเอง

นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาฯ กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับพ่อแม่ที่ต้องมาสูญเสียลูกน้อย และฝากเตือนภัยพ่อแม่ที่คิดจะนำลูกไปฝากเลี้ยง ควรจะต้องดูให้ดีโดยเฉพาะนำไปฝากเลี้ยงแบบประจำค้างคืน และยิ่งหากเป็นสถานที่รับเลี้ยงที่ไม่ได้รับอนุญาตถูกต้อง ผู้ดูแลไม่ได้รับการอบรมหรือไม่มีความรักเด็ก ก็อาจจะเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดได้

นางปวีณากล่าวห่วงใยครอบครัว ที่ต้องทำงานทั้งสามี ภรรยาและมีลูกอ่อน จึงขอฝากรัฐบาลเข้ามาดูแล ให้มีกฏระเบียบรองรับ ให้ทุกสถานที่ทำงานไม่ว่าจะเป็น ที่ทำการสถานที่ราชการรัฐ เอกชน บริษัท โรงงาน กำหนดให้มีห้องเลี้ยงเด็กอ่อน แรกเกิดถึง3ปี ขั้นแรก เพื่อให้แม่สามารถพาลูกมาเลี้ยงที่ทำงานและให้นมแม่ได้  นอกจากเด็กจะได้รับความปลอดภัยแล้วทั้งแม่ทั้งลูกยังจะมีสุขภาพจิตที่ดี โดยรัฐสามารถลดหย่อนภาษีให้กับ บริษัท โรงงานที่ช่วยเหลือสังคม จากนี้มูลนิธิปวีณาฯ จะประสานกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม เพื่อให้ครอบครัวได้รับเงินเยียวยาต่อไป

ภาพ-ข่าว THAIREFERENCE