ศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดสกลนคร องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นำโดย ดร.วีรณี แสงจันทร์ รอง หน.กรมอุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์ ได้เดินทางมาเพื่อศึกษาดูงาน และรับฟังข้อมูลการทำงานของศูนย์บริหารจัดหารน้ำจังหวัดสกลนคร โดยมี ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการมูลนิธิฯ และประธานอนุกรรมการพัฒนาความร่วมมือเพื่อการเฝ้าระวัง การเตือนภัย และการบรรเทาทุกข์จากปัญหาอุทกภัยในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ฝ่ายไทย) มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย พร้อมด้วย นายพิสิทธิ์ แร่ทอง  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร และหน่วยงานในพื้นที่ เข้าร่วมฟังบรรยายการติดตามสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำเพื่อเตรียมการรับมือและป้องกันสาธารณภัย จากนั้นคณะได้เยี่ยมชมภายในบริเวณศูนย์บริหารจัดการน้ำ ชมนิทรรศการเครือข่ายมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย (กลุ่มทอผ้าบ้านพันนา และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน) และชมนิทรรศการเครื่องจักรกลสาธารณภัยของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 7 สกลนคร

ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ คณะศึกษาดูงานได้เดินทางมายังจุดติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ บริเวณสะพานลำน้ำยาม ตำบลอากาศอำนวย อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร รับฟังบรรยายสรุปการใช้สถานีโทรมาตรอัตโนมัติเพื่อการเตือนภัยโดยนายพัฒนะ  วงค์วันดี สมาชิกเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ตำบลวาใหญ่ จากนั้นเดินทางต่อไปยังศาลาเอนกประสงค์ บริเวณริมหนองบ่ออ้อ ตำบลวาใหญ่ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร รับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) และผลการดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชมุชนตำบลวาใหญ่ โดย นายสมิต  ใครบุตร ประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนตำบลวาใหญ่  ซึ่งในอดีตหนองบ่ออ้อประสบปัญหาน้ำท่วมสูงแต่เก็บน้ำได้น้อย พื้นที่หนองตื้นเขินจากตะกอนดินสะสม และเกิดการแย่งชิงน้ำ เนื่องจากขาดการบริหารจัดการน้ำ และไม่มีแนวเขตที่ชัดเจน เมื่อมีการร่วมบริหารจัดการน้ำโดยมูลนิธิฯ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ผ่านทางเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ชุมชนตำบลวาใหญ่ มีการพัฒนาโครงสร้างเก็บกักน้ำแก้มลิงแบบยกสูงขึ้น ควบคุมระดับน้ำระหว่างคลองระบายน้ำกับแก้มลิงเพื่อให้เกิดการสมดุลระหว่างการเก็บและใช้ นกจากนี้ยังมีการกำหนดกติกา การใช้ และการดูแลรักษาบริเวณหนองน้ำนี้ ทำให้ปัจจุบันช่วยลดปัญหาน้ำท่วมและขาดแคลนน้ำ สามารถนำน้ำไปใช้ในการเกษตรและครัวเรือนได้ และลดปัญหาการแย่งชิงน้ำ สร้างเศรษฐกิจสู่สังคม

จากนั้น คณะได้เดินทางศึกษาดูงานการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ หนองโสกและลำห้วยโสก เพื่อรับฟังการดำเนินงานฟื้นฟู พัฒนา และเชื่อมโยงแหล่งน้ำ เพื่อการพัฒนาดิน น้ำ ป่า และเดินทางต่อไปยังแปลงเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ของนายนินทร  ประลอบพันธ์ สมาชิกเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ตำบลวาใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีรายได้จากการทำเกษตรผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่เพิ่ม 6,000 บาท/เดือน และช่วยลดค่าใช้จ่าย 3,000 บาท/เดือน โดยแบ่งพื้นที่ขุดสระ เพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝนไว้ใช้ในฤดูแล้ง ปัจจุบันมีผลผลิตมากกว่า 25 ชนิด หมุนเวียนตลอดทั้งปี สร้างรายได้รายสัปดาห์ อาทิ พริก ตะไคร้ ดอกแค ข่า มะละกอ และรายได้รายเดือนจาก กล้วย บัว ผักบุ้งแก้ว ผักก้านจอง และรายได้รายปีจาก ข้าว มะพร้าว เป็นต้น

การศึกษาอบรมดูงานในวันนี้ เป็นผลพวงจาก พระกรุณาธิคุณในองค์นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิ ฯ ที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของความร่วมมือ ระหว่างมูลนิธิ ฯ กับหน่วยงานของ สปป.ลาว ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ในแขวง อัตตะปือ สปป.ลาว เพื่อให้ประชาชนทั้งไทยและลาวตลอดทั้งสองฝั่งโขง มีระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ มูลนิธิฯ จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาความร่วมมือเพื่อการเฝ้าระวัง การเตือนภัย และการบรรเทาทุกข์จากปัญหาอุทกภัยใน สปป. ลาว (ฝ่ายไทย) และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้แต่งตั้งคณะรับผิดชอบในการประสานงานและทำงานร่วมกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย (ฝ่าย สปป.ลาว) เพื่อพิจารณาดำเนินการให้เกิดความร่วมมือระหว่างทั้ง สองประเทศ

มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จึงได้ดำเนินการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อสนับสนุนการเตือนภัยอย่างยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง สปป. ลาว จำนวน 11 สถานี กระจายตัวครอบคลุมตั้งแต่ตอนเหนือสุด คือ แขวงบ่อแก้ว ไปจนถึงตอนใต้สุด คือ แขวงสาละวัน แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดการสูญเสียก่อนเกิดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต่อมาได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร เพื่อการเฝ้าระวัง การเตือนภัย และการบรรเทาทุกข์จากปัญหาอุทกภัย ระหว่าง มูลนิธิฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาความร่วมมือและเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 72 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างไทยกับ สปป. ลาว ในปี 2565 นี้ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะร่วมกัน “เพื่อการเฝ้าระวัง การเตือนภัย และการบรรเทาทุกข์จากปัญหาอุทกภัยในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” ซึ่งรวมถึงแผนปฏิบัติการในการติดตั้งสถานีโทรมาตรในระยะที่ 2 และแผนงานกิจกรรมอื่นๆ รวมถึงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ด้วย

ภาพ-ข่าว   วัฒนะ แก้วก่า/ สกลนคร