วันที่ 5 ม.ค. 66 รศ.ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการสำรวจความความพึงพอใจของผู้รับบริการ และสำรวจการรับรู้ความเข้าใจของประชาชนที่มีต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปี 2565 เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2565 – 2 มกราคม 2566 กระจายกลุ่มตัวอย่างในทุกจังหวัดของประเทศไทย จำนวน 1,678 ชุด พบว่า ร้อยละ 87.39 ประชาชนมีความพึงพอใจในภาพรวมต่อการปฏิบัติงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปี 2565

ด้านความพึงพอใจผลงานตามยุทธศาสตร์ของ ก.เกษตรฯ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 90.38 พึงพอใจยุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร รองลงมา ร้อยละ 90.21 ยุทธศาสตร์เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตร และร้อยละ 87.04 ยุทธศาสตร์เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
ด้านความพึงพอใจผลงานตามนโยบาย ส่วนใหญ่ ร้อยละ 91.18 พึงพอใจนโยบายตลาดนำการผลิต รองลงมา ร้อยละ 90.58 นโยบายการส่งเสริมเกษตรพันธสัญญา ร้อยละ 90.18 นโยบายการประกันรายได้เกษตรกร ร้อยละ 89.37 นโยบายการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร และร้อยละ 89.13 การประกันภัยพืชผล
ด้านความพึงพอใจต่อแอปพลิเคชันและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ ก.เกษตรฯ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.91 พึงพอใจแอปพลิเคชัน “เกษตรดิจิทัล” รองลงมา ร้อยละ 87.83 แอปพลิเคชัน “Plants For U” ร้อยละ 87.76 แอปพลิเคชัน “สมุดทะเบียนเกษตรกรดิจิทัล” ร้อยร้อยละ 87.62 แอปพลิเคชัน “OAE OIC” ร้อยละ 87.52 แอปพลิเคชัน “SmartMe” และร้อยละ 87.22 แอปพลิเคชัน “Smart Co-op”

ขณะที่ภาพลักษณ์ของ ก.เกษตรฯ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 90.24 ประชาชนมองว่า เป็นหน่วยงานที่ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้มีความมั่นคง รองลงมา ร้อยละ 89.44 เป็นหน่วยงานบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 89.39 เป็นหน่วยงานพัฒนาเศรษฐกิจภาคการเกษตรและสหกรณ์ให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และร้อยละ 89.21 เป็นหน่วยงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ส่วนผลการปฏิบัติงานตามค่านิยมขององค์กร ส่วนใหญ่ ร้อยละ 88.31 มองว่า มีคุณธรรม รองลงมา ร้อยละ 87.01 มีความสามารถในการสร้างสรรค์ ร้อยละ 86.38 ตรงไปตรงมา และร้อยละ 84.99 ตรวจสอบได้