สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา   ได้ส่งผลกระทบทั้งความสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินให้กับทุกกลุ่มอาชีพ ซึ่งครู เป็นเป้าหมายอีกกลุ่มหนึ่ง ของการก่อเหตุความรุนแรง เริ่มจากการเสียชีวิตของครูคนแรก เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2547 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 มีครู – บุคลากรทางการศึกษา ในพื้นที่  จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา  ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตแล้ว 162 ราย พิการ 9 ราย รวม 171 ราย ในส่วนของการสนับสนุนสวัสดิการให้กับครู – บุคลากรทางการศึกษา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ที่ได้รับผลกระทบฯ นั้น ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคได้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2556  ได้มีมติเห็นชอบให้ทางกระทรวงศึกษาธิการช่วยเหลือเยียวยาและจัดสวัสดิการเพิ่มเติมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เสียชีวิต และพิการ  กรณีดังกล่าว และ ให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 มกราคม 2547 ช่วยเหลือเยียวยา รายละไม่เกิน 4 ล้านบาท ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้ทยอยจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาไปแล้ว สำหรับผู้เสียชีวิต ขณะที่ จนถึงขณะนี้ ยังมีผู้ทุพพลภาพ ซึ่งยังไม่ได้รับการเยียวยาช่วยเหลือ                  

ล่าสุด ทางตัวแทนครอบครัวครู ผู้ได้รับผลกระทบ ที่เสียชีวิต และ นายประสิทธิ์ ศิริบุญหลง อดีต ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบานา อำเภอเมืองปัตตานี ที่ทุพพลภาพ และ อาจารย์สุภา วัชรสุขุม  ภรรยาของ ผศ.พงษ์พจน์ วัชรสุขุม อดีต อาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้น จ.ยะลา ได้เดินทางมาพบกับ นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ  ที่ศูนย์ประสานงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 จ.ยะลา พรรคพลังประชารัฐเพื่อให้ช่วยผลักดัน การช่วยเหลือเยียวยา ครู และบุคลากรทางการศึกษาที่ทุพพลภาพ ซึ่งยังตกค้างไม่ได้รับการเยียวยาช่วยเหลือ ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปี 2556 จำนวน 9 ราย ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการประชุม กพต.ซึ่งจะจัดขึ้นที่ ศอ.บต. ในเร็วๆ นี้  

อาจารย์สุภา วัชรสุขุม ภรรยาของ ผศ.พงษ์พจน์ วัชรสุขุม อดีต อาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เปิดเผยว่า วันนี้ ได้มาเข้าพบกับทาง ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ เพื่อให้ช่วยผลักดันเรื่อง ที่กระทรวงศึกษาธิการขอรับเงินสวัสดิการ เยียวยาช่วยเหลือ  ครู – บุคลากรทางการศึกษา  ให้ผ่านการประชุม กพต.เพราะกระทรวงศึกษาธิการเห็นชอบกับการช่วยเหลือเราแล้ว แต่ที่นี้ตอนที่กระทรวงศึกษาธิการขอไป ขอทั้งผู้เสียชีวิตและผู้พิการผ่านกระบวนการของ กพต. แล้วออกมาเป็นมติ  คณะรัฐมนตรี ก็ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้เสียชีวิตไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่ในมติของ กพต. ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามมติ กพต. ตกหล่นผู้พิการไป คือ อนุมัติให้ช่วยเหลือผู้เสียชีวิตที่เกิดเหตุตั้งแต่ 1 มกราคม 2547 จนกระทั่งถึง เดือนกันยายน 2556 แต่ผู้พิการนี้ตกหล่นไป ทั้งๆที่กระทรวงศึกษาธิการขอไปทั้งสองกลุ่ม ดังนั้นเมื่อกระทรวงศึกษาธิการเห็นด้วยกับเราก็จะต้องเดินเรื่องตามเดิมต้องผ่านมติ กพต.ก่อน แต่เรื่องนี้ล่วงเลยมาช้านาน ล่าสุด ทางกระทรวงศึกษาธิการ  ก็ทำเรื่องมาถึง ศอ.บต. เพื่อให้ผ่านเข้าประชุม กพต. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ จนบัดนี้เรื่องก็ยังไม่ได้ขยับไปถึงไหน เราจึงมาขอแรงช่วยเหลือจาก สส.ให้ช่วยผลักดันเรื่องนี้ให้เข้าประชุม กพต. เพื่อที่กระทรวงศึกษาธิการจะได้ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างเรียบร้อยต่อไป

ภาพ-ข่าว อะหมัด รามันห์สิริวงศ์/ยะลา