จากการนำของนายปรัชญา เสริฐลือชา นายอำเภอลับแล  และนางจินดารัตน์  เสริฐลือชา นายกกิ่งกาชาดอำเภอลับแล  จ.ส.อ.ธวัชชัย กาวีละ รองนายกเทศบาลตำบลหัวดง และนายฉัตรชัย  แว่นตา ผู้ช่วยครูโรงเรียนพนมมาศพิทยากร (คณะกรรมการศึกษาประวัติเมืองลับแล(เมืองลับแลง)  โดยนายอำเภอแต่งตั้งให้    พร้อมด้วยกำลัง อส.ร้อยที่ 8 อ.ลับแล ได้เดินทางไปยัง วัดปทุมคงคา  หมู่ที่ 1 ตำบล แม่พูล อำเภอ ลับแล อุตรดิตถ์ และมีคณะกรรมการวัดพาไปชม องค์พระพุทธรูปสำริดศิลปะสุโขทัย ที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อสองพี่น้ององค์ ที่ 1 สามารถกำหนดอายุได้ในครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 20 (พ.ศ. 1951 – 2000) (ผู้ให้ข้อมูล นายสิวากร ชุมประเสริฐ (ค.บ. (มัธยมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

นอกจากนั้นยังพบระฆังที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยมีจารึกที่บนฐานระฆังเป็นตัวอักษรล้านนาว่า ระฆังนี้สร้างขึ้นโดยครูบาหน่อพร้อมกับศรัทธาชาวลับแลงและสามเณร สร้างขึ้น เมื่อ จุลศักราชที่ 1122 (พ.ศ. 2303) ปีขาลโทสก ซึ่งเป็นระฆังที่เก่าที่สุดเท่าที่พบในจังหวัดอุตรดิตถ์ ปัจจุบันมีพระครูวาปีปทุมรักษ์ เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคาและคณะศรัทธาวัดปทุมคงคาเป็นผู้ดูแลรักษา ทางนายอำเภอลับแลแนะนำให้เจ้าอาวาสและคณะกรรมการของวัดมีการป้องกันและดูแลรักษาองค์พระพุทธรูปสำริดและระฆังเป็นอย่างดี

หลังจากนั้นคณะของนายอำเภอลับแล ได้เดินทางไปยังวัดท้องลับแล ม.10 ตำบลฝ่ายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เดิมตามหลักฐานจารึกฐานพระเจ้าไม้พญาพรหมโวหาร เรียกชื่อว่านี้ว่า วัดลับแลงหลวง,ลับแลง ซึ่งในอดีตเป็นวัดหลวงประจำเมืองลับแล วัดท้องลับแลนี้ เป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะล้านนาอันเป็นพระประธานในอุโบสถ ที่เรียกกันว่า พระเจ้ายอดคำทิพย์ ซึ่งในเนื้อหาบันทึกตำนานพระเจ้ายอดคำทิพย์ วัดลับแลงหลวงกล่าวว่า เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นโดยพระเจ้าติโสกราช กษัตริย์อาณาจักรล้านนาองค์ที่ 9 สร้างอุทิศถวายแต่ดวงพระวิญญาณของเจ้ายี่กุมกามเจ้าเมืองเชียงราย นอกจากนั้นยังเป็นมีภาพวาดภายในโบสถ์ของวัดที่มีการปรากฎการหักเหของแสงผ่านช่องหน้าต่างอุโบสถทำให้เกิดรูปเจดีย์กลับหัว และที่สำคัญมีพระพุทธรูปแกะสสักจากไม้ อายุประมาณเกือบ 200 ปี ที่เรียกว่า พระเจ้าพญาพรหมฯ ซึ่งมีจารึกที่ระบุว่า อาวหนานพรหม (พญาพรหมโวหาร) และนางขม ซึ่งเป็นเมียสร้างถวายไว้วัดท้องลับแล ตอนที่พญาพรหมโวหารหนีภัยมาอยู่ที่เมืองลับแลงในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 ปัจจุบันมีพระครูโฆสิตธรรมที่นิต รองเจ้าคณะอำเภอลับแล เป็นเจ้าอาวาสดูแลโบราณวัตถุที่สำคัญนี้ไว้

  วัดม่อนใหญ่ ตั้งอยู่ ม. 7 ตำบลฝ่ายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นโบราณสถานหนึ่งที่อยู่ในแอ่งเมืองลับแลง โดยข้อมูลตามบันทึกตำนานพระเจ้ายอดคำทิพย์ วัดลับแลงหลวง ได้ระบุว่า แต่เดิมเรียกวัดนี้ว่าวัดมหาวันพิหารข่วงน้ำล้อม ปัจจุบันมีซากโบราณสถานที่ปรากฏสองแห่งคือ ซากฐานวิหารและฐานเจดีย์ที่ก่อด้วยอิฐดินจี่ จากข้อมูลการตรวจของสำนักกรมศิลปากรที่ 7 สุโขทัย พบว่า อายุของก้อนอิฐดินจี่ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 (พ.ศ. 1900 2000) นอกจากนั้นโบราณสถานแห่งนี้ได้พบพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ปัจจุบันได้ถูกอัญเชิญไปเก็บรักษาที่วัดเสาหิน โดยปี พ.ศ.2554 คณะสงฆ์อำเภอลับแลและชาวบ้านหมู่ที่ 7 ได้ร่วมกันพื้นฟูเพื่อยกฐานะขึ้นเป็นวัดต่อไปปัจจุบันมีพระกษมล คุณากโร เป็นผู้ดูแล

วัดจอมแจ้ง (วัดร้าง)วัดจอมแจ้ง เป็นวัดร้างที่ตั้งอยู่ ม. 2 ตำบลชัยจุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่ริมฝายน้ำลันที่ชื่อว่า ฝายจอมแจ้งอันเป็นฝายที่กั้นน้ำคลองแม่พร่อง วัดนี้ตามหลักฐานทายธัมม์วัดน้ำใสพบว่า วัดจอมแจ้งยังคงความเป็นวัดในช่วงรัชกาลที่ 3 จนกระทั่งได้ย้ายไปตั้งวัดใหม่ทางฝั่งทิศเหนือของลำน้ำแม่พร่อง ปัจจุบันคือวัดไชยจุมพล โบราณสถานวัดร้างจอมแจ้ง ยังพบซากก้อนอิฐดินจี่ฐานอุโบสถและฐานวิหาร อายุร่วมกับโบราณสถานวัดม่อนใหญ่กระจัดกระจายปะปนกับก้อนศิลาแลง นอกจากนี้นายเลิศ แก้วสนผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ายังมีพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยซึ่งปัจจุบันได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานวัดหมอนไม้ ตำบลป่าเซ่า อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์

ก่อนที่จะเดินทางไปยังโบราณสถาน อโรคยาศลา (สันนิษฐานอาจเป็นที่ตั้งวัดทองล้น) ตั้งอยู่ที่ ม. 3 ตำบลชัยจุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นโบราณสถานที่ร่วมยุคขอมเรื่องอำนาจ ราวประมาณ 800 -1,000 ปี ปัจจุบันยังพบฐานที่ก่อด้วยศิลาแลงชัดเจน

สุดท้ายคณะของนายปรัชญาได้เดินทางไปยังวัดกุฎีพระฤาษีทรงธรรม  ม.ที่ 4 ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นวัดที่มีโบราณสถานสำคัญของเมืองทุ่งยั้ง โดยอาจารย์มานิต วัลลิโภดม อดีตหัวหน้ากองโบราณคดีที่ กรมศิลปากรต้องลงสำรวจในราว พ.ศ.2500 พบว่าเป็นโบราณทวาลัยที่อยู่ในยุคขอมเรื่องอำนาจโดยพบโบราณวิหารที่มีฐานก่อด้วยศิลาแลง ปัจจุบันได้บูรณะให้มั่นคงถาวร และนำเคียรพระฤาษีของก่อทับตามความเชื่อของชาวบ้านย่านนั้นว่าเป็นวัดพระฤาษีตนหนึ่งอยู่บำเพ็ญภาวนา และมีพระปลัดอำนาจ เขมธมฺโมดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดกุฎีพระฤาษีทรงธรรม ก่อนที่จะเดินทางกลับ

ภาพ-ข่าว ณัฐวัฒน์​  ราช​ประสิทธิ์​  จ.อุตรดิตถ์​