กลุ่มเกษตรกรเครือข่ายสร้างป่า-สร้างรายได้ จากชนเผ่ากะเหรี่ยงและม้ง ในพื้นที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ได้ร่วมกันลงแปลงปลูกขยายพันธุ์กัญชงแปลงแรกที่ปลูกในที่ดินในโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.) ที่บ้านแม่จ๋าน้อย ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอนและจากบริษัท วีอีโค่ จำกัด ให้คำแนะนำและดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายและการควบคุมคุณภาพอย่างรัดกุมตามมาตรฐานของการผลิตกัญชง ซึ่งแปลงปลูกแห่งนี้เป็นการดำเนินการเป็นแหลงแรกที่จะเป็นการขยายพันธุ์ไปยังพื้นที่ปลูกทั้ง 7 อำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน และเป็นความร่วมมือกันของราษฎรชนเผ่าคือเผ่ากะเหรี่ยงและเผ่าม้ง ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวในพื้นที่ที่ได้รับจัดสรรที่ดินทำกินเพื่อชุมชน ที่เป็นพื้นที่ป่าในระดับลุ่มน้ำชั้น 3-4-5 ที่ถูกกันออกมาจากพื้นที่ของป่าสงวนแล้ว

นายกรัณย์พล แสงทอง ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการในครั้งนี้เป็นความต่อเนื่องหลังจากทางรัฐบาลได้จัดสรรที่ดินทำกินให้ชุมชนจากปี 2561 เป็นต้นมา ที่นอกจากการสร้างความมั่นคงในที่ดินทำกินแล้วยังต้องเปิดโอกาสในการสร้างรายได้กับประชาชนก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ กรมป่าไม้ได้น้องนำเอากระแสพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของโครงการสร้างป่า-สร้างรายได้ควบคู่กับโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน เพื่อสร้างในเรื่องของการรักษาป่า การสร้างอาชีพ การพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความมั่นคงในเรื่องที่ดินและสร้างโอกาสของรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน สำหรับพื้นที่นี้เป็นของนางศรีจันทร์ เป็นโครงการ คทช.กลุ่มที่ 1 คือผู้ที่อยู่อาศัยก่อนปี 2545 และอยู่ในลุ่มน้ำ 3-4-5 ซึ่งที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีเป้าหมายของโครงการอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอยู่ 70,000 ไร่ ที่แจกสมุด คทช.ไปแล้วราว 400 กว่าเล่ม ซึ่งนางศรีจันทร์เป็นประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสร้างป่า-สร้างรายได้ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วย ทางกรมป่าไม้และอีกหลายหน่วยงานได้ร่วมกันสนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้แปลงปลูกนี้เป็นแปลงตัวอย่างให้ปลูกพืชอะไรก็ได้ที่ช่วยให้มีการปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ใช้พื้นที่น้อยแต่ผลตอบรับเรื่องรายได้ที่สูงขึ้นกว่าการปลูกพืชชนิดอื่นที่เป็นปัญหาของชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนในห้วงที่ผ่านมา

เพราะว่าแม่ฮ่องสอนจะปลูกพืชเกษตรชนิดอื่นๆ ราคาผลผลิตตกต่ำและการขนส่งจากแหล่งผลิตไปยังตลาดค่อนข้างไกล แต่อาชีพพื้นฐานของชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้นคือการเกษตร แต่กลับพบว่าที่ดินกรรมสิทธิ์นั้นมีอยู่เพียง 1.5 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นพื้นที่ป่าทั้งหมดที่จะต้องทำอย่างไรที่ให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้และมีความยั่งยืน จึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมการปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน เพราะฉะนั้นกัญชาหรือกัญชงก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ชาวบ้าน 2 ชนเผ่ามาร่วมกันลงแปลงปลูกในวันนี้ ซึ่งที่ผ่านมาอย่างยาวนานจะทราบกันดีว่าวิถีชีวิตของชาวม้งผูกพันธ์กับกัญชงมายาวนาน เสื้อผ้าของชนเผ่าม้งทั้งหมดนั้นทอมาจากใยกัญชง ที่มีคุณสมบัติต้านแบคทีเรีย ชาวม้งอาศัยอยู่บนพื้นที่สูง อากาศหนาวเย็น หากใส่เสื้อผ้าที่ทอจากใยกัญชงจะระบายดี ไม่มีกลิ่นหรือแทบจะไม่ต้องซักบ่อย การปลูกกัญชงเป็นการช่วยได้ทั้งวิถีธรรมชาติ มิติด้านวัฒนธรรม สังคมและด้านเศรษฐกิจ เมื่อนำมาร้อยรวมกับโครงการ คทช.ก็เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน แต่ก่อนหน้านี้การขออนุญาตปลูกกัญชงค่อนข้างยุ่งยาก แต่เมื่อมีการปลดล๊อกแล้ว เพราะฉะนั้นที่นี่จะเป็นแปลงสาธิตแปลงแรก เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้จะเป็นกรรมสิทธิ์ของเครือข่ายชุมชนสร้างป่าสร้างรายได้ที่นี่ ซึ่งที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีเครือข่ายอยู่ถึง 29 เครือข่าย ที่จะได้รับแจกเมล็ดพันธุ์จากแปลงปลูกที่นี่และเข้าสู่การปรับเปลี่ยนการปลูกพืชแบบใหม่

 ด้านนางศรีจันทร์ ปิตานี ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เผยว่า ที่ผ่านมาที่แปลงปลูกแห่งนี้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวและพืชจำพวกถั่วลายเสือ-ถั่วแดงและกระเจี๊ยบมาก่อน แต่หลังจากโครงการนี้เข้ามาเราก็คาดหวังว่า เราปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมีอยู่แล้ว เมื่อมาเจอพืชกัญชงที่เค้ากำชับไว้ว่าจะต้องไม่ใช้สารเคมี ก็เลยเข้าร่วมโครงการและอยากให้ที่นี่เป็นต้นแบบของแต่ละชุมชน ที่น่าจะเป็นการปลูกที่สร้างรายได้มากกว่าการปลูกพืชแบบเดิมๆ อาทิ ปลูกพืชเดิมอาจจะปลูกแล้วมีรายได้ปีละ 15,000 บาท หากหันมาปลูกกัญชงแล้วมีรายได้มากกว่าเดิม 2-3 เท่า   มีรายได้เพิ่มขึ้น ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เข้ามาดูแลสนับสนุน เพราะจากกรรมสิทธิ์ที่ดินจากโครงการ คทช.ซึ่งเป็นพื้นที่ของรัฐที่จัดสรรมาให้ก็อยากจะใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด

ภาพ-ข่าว วิรัตน์  นันทะพรพิบูลย์  จ.แม่ฮ่องสอน