จากกรณีที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ยื่นเอกสารขอรับรอง วิถีการเลี้ยงควายและเกษตรเชิงนิเวศในพื้นที่ทะเลน้อย  เป็น มรดกทางการเกษตรโลก (Globally Important Agricultural Heritage System หรือ GAHS) จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO โดยพื้นที่ดังกล่าวมีความสำคัญเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากจนได้รับการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือ Ramsar site” และมีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ FAO ในการเป็นมรดกทางการเกษตร ที่เน้นการอนุรักษ์มรดกทางการเกษตรโลก  เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและพัฒนาเศรษฐกิจ ปกป้องและส่งเสริมการใช้ทางชีวภาพให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น  และยั่งยืนบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย มีวิถีชีวิตที่มีความเชื่อมโยงกับควายน้ำทะเลน้อย โดยสืบทอดการเลี้ยงควายมายาวนานมากว่า 250 ปี

สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยมีรายได้หลักจากการขายควาย  การทำประมง  ปลูกข้าว และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกระจุด  ด้านระบบนิเวศนั้น เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำในทะเลน้อยมีปริมาณสูง ควายน้ำจะดำน้ำลงไปกินหญ้าใต้น้ำและพืชน้ำอย่างสายบัว ใบบัว หรือสาหร่าย กระจูด ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศในการกำจัดวัชพืช และมูลของควายยังเป็นอาหารให้กับพืชและแพลงตอน ซึ่งเป็นอาหารปลา และในส่วนของด้านวัฒนธรรม ควายเป็นศูนย์รวมของความเชื่อ มีพิธีกรรมและประเพณีที่เกี่ยวข้องกับควาย และทางเดินของควาย นอกจากจะสร้างภูมิทัศน์ที่สวยงามยังช่วยป้องกันการเกิดไฟป่าอีกด้วย

ด้านนายทันยะ สุบันสง  อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 291หมู่ที่ 1 ต.พะนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เกษตรกรเจ้าของควายบริเวณพื้นที่ทุ่งหญ้าคลองนางเรียม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย  กล่าวว่าวิถีการเลี้ยงควายและเกษตรเชิงนิเวศในพื้นที่ทะเลน้อย  เป็น มรดกทางการเกษตรโลก นั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีกับเกษตรกรเจ้าของควายในพื้นที่ทะเลน้อย แต่เกษตรกรหลายรายยังไม่ทราบแนวทางและหลักการณ์สำหรับเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด

ขณะที่นาย พรประเสริฐ เกื้อคราม อายุ43ปี อยู่บ้านเลขที่ 300 หมู่ที่ 13 ต.พะนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เกษตรกรเจ้าของควายน้ำทะเลน้อย กว่า 200 ตัว กล่าวว่า  ปัจจุบันระบบนิเวศน์ในพื้นที่ทุ่งหญ้าทะเลน้อยเปลี่ยนไป เกษตรกรเจ้าของความเริ่มกังวลต่อการเลี้ยงควายที่สร้างรายได้และเป็นมรดกที่ได้จากพ่อแม่ ปู่ ย่า ซึ่ง การยกวิถีการเลี้ยงควายและเกษตรเชิงนิเวศในพื้นที่ทะเลน้อย  เป็น มรดกทางการเกษตรโลก นั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยหลายฝ่ายจะได้เข้ามาร่วมแก้ปัญหา และแนวทางการเลี้ยงควายน้ำเพื่อความอยู่รอดและยั่งยืน ในอนาคต ต่อไป แต่การเลี้ยงควายน้ำทะเลน้อย ปีนี้ถือว่าแย่ที่สุด เพราะฝนที่ตกลงมาต่อเนื่องทำให้ทุ่งหญ้าเลี้ยงควายโดยรอบเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย มีน้ำท่วมขังนานกว่า 6 เดือนจากปกติ ท่วมขังเพียง 3เดือนเท่านั้น ถือว่าปีนี้แย่ที่สุดเท่าที่เคยเจอปัญหามา ควายผอม ควายตาย เจ้าของควายบางรายเริ่มท้อ ถึงขนาดจะขายควายยกฝูง

ภาพ-ข่าว ไสว รุยันต์ จ.พัทลุง