นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนพร้อมด้วยนายสืบพงษ์ นิ่มพูลสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัด   และหัวหน้าส่วนราชการ ให้การต้อนรับ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองายกรัฐมนตรี ในการลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล  ประกอบด้วย สถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน,  โครงการจัดที่ดินให้ชุมชนตามนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)  และการดำเนินการตามมาตรการป้องกันไฟป่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก  PM 2.5 ณ ห้องประชุมขุนลุมประพาส ศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวถึงการดำเนินงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ปี 2558 – 2565 มีจำนวน 9 ป่า 20 พื้นที่ เนื้อที่เป้าหมายรวม 73,864 ไร่ ประกอบด้วย  พื้นที่ที่ คทช.จังหวัดแม่ฮ่องสอนเห็นชอบ และยื่นคำขอใช้พื้นที่แล้ว  จำนวน 16 พื้นที่ เนื้อที่รวม 50,257 ไร่ 65 ตารางวา  เป็นพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตแล้ว จำนวน 8 พื้นที่ เนื้อที่ 17,246 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา และเป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาต อีกจำนวน 8 พื้นที่ เนื้อที่ 33,010 ไร่ 1 งาน 45 ตารางวา สำหรับพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลตัวเลขพื้นที่ระหว่างสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ท้องที่กับกรมป่าไม้ อีกจำนวน 4 พื้นที่ เนื้อที่ 23,607 ไร่ 2 งาน 73 ตารางวา เพื่อแจ้งให้จังหวัดแม่ฮ่องสอน ยื่นเรื่องคำขอใช้พื้นที่ดังกล่าวต่อไป  หากการดำเนินงานจัดที่ดินทำกิน ให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของจังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้วเสร็จบรรลุตามเป้าหมายจะมีราษฎรผู้ได้รับการจัดสรรที่ดิน คทช. ครอบคลุม 7 อำเภอในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ราว 21,615 ราย       

ด้านการดำเนินการมาตรการป้องกันไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในปี 2565 สามารถดำเนินการได้เกินกว่าเป้าหมายของรัฐบาลและจังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้วยการบูรณาการร่วม ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน และภาคประชาชน โดยผลการดำเนินงาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 มีดังนี้   จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจุดความร้อนสะสมเกิดขึ้น จำนวน 5,214 จุด เปรียบเทียบกับห้วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ที่มีจุดความร้อนสะสมจำนวน 11,945 จุด ลดลง 6,731 จุด คิดเป็นร้อยละ 56.35 บรรลุเกินเป้าหมายที่กำหนดไว้  โดยในปีนี้ถือว่า จุดความร้อนสะสมเกิดขึ้นน้อยที่สุด ในรอบ 6 ปี ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5   ขณะที่ปีนี้ มีจำนวนวันที่ค่า Pm 2.5 เกินมาตรฐาน จำนวน 37 วัน ขณะที่ปี 2564 มีจำนวนวัน เกินเกณฑ์ 49 วัน บรรลุเกินเป้าหมายที่จังหวัดกำหนดไว้ไม่เกิน 39 วัน  นอกจากนี้ พบว่า ค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 ในปี 2565 เท่ากับ 142 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรน้อยกว่าปี 2564 ซึ่งมีความเข้มข้นสูงถึง 329 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมีจำนวนวันที่ค่าคุณภาพอากาศ  อยู่ในระดับดีมาก เพิ่มขึ้นร้อยละ 207.1 บรรลุเกินเป้าหมายที่กำหนดไว้  สำหรับพื้นที่เผาไหม้ พบว่า เกิดขึ้นจำนวน 894,405 ไร่ ลดลงกว่าปี 2564 ที่มีกว่า 1,300,753 ไร่  ลดลงร้อยละ 31.24 บรรลุเกินเป้าหมายที่กำหนดไว้   ทำห้จังหวัดแม่ฮ่องสอนโดยมีค่าเฉลี่ยจุดความร้อนต่อพื้นที่เผาไหม้ 10,000 ไร่ สัดส่วนน้อยเป็นลำดับที่ 3 ของ 17 จังหวัดภาคเหนือ

นอกจากนี้ ตัวชี้วัดอื่น ที่จังหวัดกำหนดเพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมในทุกมิติ พบว่า สามารถดำเนินการ ได้บรรลุตามเป้าหมายทุกตัวชี้วัด เช่น ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ สามารถ“ชิงเก็บ ลดเผา”   ได้มากกว่า 1,000 ตัน  และสามารถจัดตั้งห้องปลอดฝุ่น ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กครบทุกแห่ง จากนั้นเวลา 10.00 น. รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์   หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และมอบสมุดประจำตัวผู้ได้รับการคัดเลือกให้ทำกินในชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ณ หอประชุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูแม่ฮ่องสอน จำกัด โดยรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า   จังหวัดแม่ฮ่องสอน สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเต็มศักยภาพ มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็กบรรลุเกินเป้าหมายของรัฐบาล รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ  การจัดที่ดินให้ชุมชนตามนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ขับเคลื่อนอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม  พร้อมทั้งมอบนโยบาย แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และทุกภาคส่วน ประกอบด้วย  3 ด้าน ดังนี้

ด้านที่ 1 ขอให้บูรณาการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำ ให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ๒0 ปี ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ครอบคลุมทุกมิติ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการร่วมกับ ทุกหน่วยงานด้านน้ำและกรมประชาสัมพันธ์

ด้านที่ ๒ ขอให้ทุกหน่วยงาน ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความสำคัญ กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ คทช.อย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มสหกรณ์ส่งเสริมพัฒนาอาชีพหลักและอาชีพเสริม เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์สามารถต่อยอดมีความเข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตนเองได้

และด้านที่ ๓ การป้องกันหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง ต้องนำบทเรียนจากอดีตมาทบทวน แก้ไขแผนงาน และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงแผนให้มีความทันสมัย ต้องมีการซักซ้อมแผน เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้จริง ยึดหลักการ “ขยายผล พัฒนา ขจัดปัญหา” พร้อมทั้งขอให้มีการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดความตระหนกและสร้างความเชื่อมั่นต่อไป

ภาพ-ข่าว วิรัตน์  นันทะพรพิบูลย์  จ.แม่ฮ่องสอน