จากเหตุการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่หลายอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ และใกล้เคียง ทำให้น้ำป่าไหหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายอย่างหนักนั้น ทางสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้แจ้งสถานการณ์ฝนตกในรอบ 24 ชั่วโมง (กรมอุตุฯ และ สสน.)จ.เชียงใหม่ อ.พร้าว 30 มม. จ.ลำพูน อ.ทุ่งหัวช้าง 10 มม. และ จ.แม่ฮ่องสอน อ.ปาย 57 มม. ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ปริมาณน้ำ 114.151 ล้าน ลบ.ม. (43%) Inflow 5.398 ล้าน ลบ.ม. Outflow 0.027 ล้าน ลบ.ม. (เส้นปริมาณน้ำอยู่ระหว่างเกณฑ์ควบคุม LRC และ URC)

ทางสำนักงานชลประทานที่ 1  จึงได้มี แผนส่งน้ำฤดูฝน ปี 2565 ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในเขตพื้นที่โครงการฯ 67 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่ มิ.ย. 65 –  พ.ย. 65 ,เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ปริมาณน้ำ 92.439 ล้าน ลบ.ม. (35%) Inflow 2.332 ล้าน ลบ.ม. Outflow 0.046 ล้าน ลบ.ม. (เส้นปริมาณน้ำอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ควบคุม LRC )แผนส่งน้ำฤดูฝน ปี 2565 ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในเขตพื้นที่โครงการฯ 85 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่ มิ.ย. 65 –  พ.ย. 65

สถานการณ์พื้นที่ประสบอุทกภัย  เมื่อวันที่ 20 – 21 พ.ค. 65 ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำสาขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นผลทำให้เกิดน้ำล้มตลิ่ง เข้าท่วมในพื้นที่หลายอำเภอในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เช่น อ.เมืองเชียงใหม่ อ.แม่อาย อ.ดอยหล่อ อ.จอมทอง และในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เช่น อ.ปาย อ.ขุนยวม และ อ.แม่สะเรียง ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติในบางพื้นที่ หากไม่มีฝนตกลงมาในพื้นที่เพิ่มเติม เบื้องต้น สชป.1 โดยโครงการชลประทานจังหวัดและโครงการส่งน้ำฯในพื้นที่ ได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงสำรวจพื้นที่ประสบอุทกภัยและแจ้งเตือนชุมชนที่อยู่ตามแนวทางระบายน้ำหลากให้ทราบและเฝ้าระวังน้ำเอ่อท่วม ในพื้นที่ลุ่มต่ำที่น้ำท่วมขัง และได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้กับสู่ภาวะปกติ พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของอาคารชลประทานและพื้นที่ประสบภัย เพื่อพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ต่อไป

การเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ดำเนินการดังนี้ คือ ประชาสัมพันธ์และชี้แจงข้อมูลสถานการณ์น้ำ / แผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2565  ผ่านช่องทางต่าง ๆ  การประชุมร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ/หน่วยราชการ/องค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ การแจ้งข้อมูลผ่านเว็บไซต์หน่วยงาน/ไลน์กลุ่ม การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ฯลฯ การเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย แผนติดตั้งเครื่องสูบน้ำทั้งหมด 82 เครื่อง, รถบรรทุกน้ำ 16 คัน, รถขุด 5 คัน, รถบรรทุก 6 ล้อ 25 คัน, รถแทรกเตอร์ 1 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่น ๆ 12 หน่วย

นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1  กล่าวว่า  เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และข้าราชการในสังกัดสำนักงานชลประทานที่ 1 ให้การต้อนรับสื่อมวลชนจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูนในโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ติดตามผลการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2565 ในเขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 1 เพื่อบรรยายสรุปการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2564/65 และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ฤดูฝนปี 2565

โดยจากการจัดเก็บข้อมูลพบว่า ตลอดฤดูแล้งปี 2564/65 ที่ผ่านมา สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ตลอดจนการควบคุมดูแลอาคารชลประทานทุกแห่งในเขตความรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 1 ด้วยความประณีตสอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำและปริมาณน้ำต้นทุน โดยเล็งเห็นความสำคัญด้านการอุปโภค บริโภคเป็นหลัก สำหรับผลการส่งน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 จากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลเพื่อสนับสนุนพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำปิง รวม 19 รอบเวรนั้น (ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม – 18 พฤษภาคม 2565) ปัจจุบันได้สิ้นสุดการส่งน้ำแล้ว (เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565) รวมปริมาณน้ำที่ส่งทั้งสิ้น 14.74 ล้านลูกบาศก์เมตร จากแผน 28 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าน้อยกว่าแผน 12.47 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกิดจากฝนที่ตกในแต่ละช่วงเวลา ประกอบกับกลุ่มผู้ใช้น้ำมีแหล่งน้ำเก็บกักเป็นของตนเอง ประกอบกับปฎิบัติตามกฎการใช้น้ำเป็นอย่างดี ทำให้สามารถประหยัดน้ำได้ถึง 13.34 ล้านลูกบาศก์เมตร

 นอกจากนี้ยังได้มีการประชุมติดตามผลการส่งน้ำทุกสัปดาห์จึงทำให้รับทราบปัญหาและอุปสรรคในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำมาปรับใช้สำหรับการบริหารจัดการน้ำได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ  ด้านการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง จากแผน 215,460 ไร่ ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 261,324 ไร่ (เกินกว่าแผน 45,864 ไร่) เก็บเกี่ยวแล้ว 52,746 ไร่ คิดเป็น 20%  สำหรับการแก้ไขปัญหาด้านอุทกภัยหลังเกิดพายุฤดูร้อนในเขตจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้สนับสนุนเครื่องจักร และกำลังพลเพื่อเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนระหว่างเกิดเหตุในทันที ทำให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ขาดแคลนน้ำด้วยเช่นกัน

ในส่วนการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝน ปี 2565 และการบริหารจัดการน้ำปีนี้ นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 จะมีปริมาณฝนในปีนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ย 3% ส่วนกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ปริมาณฝนจะลดลงทำให้เกิดฝนตกน้อย หลังจากนั้นจะชุกหนาแน่นในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 โดยคาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยจำนวน 2 ลูกและมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ในการนี้ สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ทั้ง 13 มาตรการ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 โดยได้เตรียมการรับมืออุทกภัยด้วยการกำหนดพื้นที่ วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงและลำน้ำสาขา การกำจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคทางเดินน้ำ การกำหนดคน ผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ และการจัดสรรทรัพยากร ตรวจสอบความพร้อมใช้งานเครื่องจักร เครื่องมือ ตลอดจนได้ร่วมประสานงานและบูรณาการกับหน่วยงานทุกภาคส่วนเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำให้มีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุด และลดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด

นอกจากนั้น ทางคณะผู้บริหาร นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ ณ โครงการฝายหนองสลีก ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน โดยมีนายสุภรณ์วัฒน์ สุรการ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำพูน พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ  เพื่อรับฟังการบริหารจัดการน้ำของฝายหนองสลีก ซึ่งถือเป็นฝายแห่งที่ 7 ในลำน้ำปิงเพื่อช่วยขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำของประชาชนชาวเชียงใหม่และลำพูน โดยฝายหนองสลีกเป็นโครงการชลประทานขนาดกลาง ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2542 เป็นฝายทดน้ำกั้นแม่น้ำปิง เป็นแนวตรงขวางลำน้ำ ความยาวสันฝาย 139.60 เมตร ความสูงฝาย 3.80 เมตร ต่อมาในปี พ.ศ.2550 ได้ปรับปรุงเป็นฝายยาง จำนวน 5 ช่อง ๆ ละ 24.00 เมตร ยาวรวม 120 เมตร และประตูระบายทรายขนาด 5.00 เมตร จำนวน 4 ช่อง  ทั้งนี้ คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายของฝายหนองสลีกมีความยาวประมาณ 13.10 กิโลเมตร สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่รับประโยชน์ได้ถึง 12,400 ไร่ จากการใช้งานมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ฝายหนองสลีก(ฝายยาง) เกิดชำรุดเสียหายไม่สามารถควบคุมและใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดปัญหาด้านการบริหารการจัดการน้ำในฤดูฝน และฤดูแล้งไม่สามารถทดน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรได้เต็มประสิทธิภาพ.

ภาพ-ข่าว นิวัตร -ภัทร์ศิริ  ธาตุอินจันทร์ ทีมข่าวเชียงใหม่