นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” ได้พูดถึงห้องสมุดโฮงเฮียนแม่น้ำโขงหลังจากที่ได้มีการเปิดตัวห้องสมุดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ว่า ห้องสมุดโฮงเฮียนแม่น้ำของเกิดจากกลุ่มรักษ์เชียงของเกิดจากการร่วมกันสร้างสถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นหรือโฮงเฮียนแม่น้ำของ โดยร่วมมือกับพันธมิตร ซึ่งการสร้างโฮงเฮียนแม่น้ำของขึ้นเพราะว่าการทำงานของเครือข่าย โดยใช้เครือข่ายองค์ความรู้เป็นตัวกำหนด ผ่านเครื่องมือคืองานวิจัยของชาวบ้าน โดยได้ทำมาหลายปีในขณะที่เป็นกลุ่มรักษ์เชียงของ ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้เราก็เห็นว่ามีความสำคัญที่จะเผยแก่ให้กับเยาวชน และสาธารณชน รู้เรื่องของท้องถิ่น รู้เรื่องของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง  โฮงเฮียนแม่น้ำโขงได้เผยแพร่เรื่องราวและเป็นคลังในเรื่องของข้อมูลพื้นที่สำหรับใช้ในการเผยแพร่ จึงได้มีการคิดถึงเรื่องห้องสมุด และได้มีแนวคิดทำห้องสมุดโฮงเฮียนแม่น้ำของ เพื่อเก็บข้อมูลแม่น้ำโขง ในเรื่องของท้องถิ่น และภูมิปัญญาต่างๆ เพื่อให้เด็กได้ใช้เป็นสถานที่ที่จะเข้ามาศึกษาเรียนรู้ และจะพัฒนาให้ห้องสมุดให้เป็นแบบที่คนท้องถิ่นใช้ได้ คนที่อื่นมาใช้ได้ โดยจะทำให้เป็นห้องสมุดดิจตอล เพื่อเป็นการบริการแก่ประชาชนที่สนใจเรื่องแม่น้ำโขง

ครูตี๋กล่าวว่า   กว่าจะมาเป็นห้องสมุดโฮงเฮียนแม่น้ำของ ก็จะต้องพูดถึงที่มาของโฮงเฮียนแม่น้ำของก่อน ซึ่งเราได้รับบริจาคที่ดินจากกลุ่มรักษ์เชียงของให้ทำเป็นถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่น โดยการรวมทุนสร้างห้องสมุดครั้งแรกก็จากพันธมิตรต่างๆ ร่วมกันจัดคอนเสิร์ตหาเงิน ก็ได้เงินมาในการสร้างฐานรากของห้องสมุดจากนั้นก็ได้มีกลุ่มเอกชน มาร่วมบริคเงินให้สร้างจนแล้วเสร็จ จนเกิดห้องสมุดขึ้นมาตอนนี้ก็อยู่ในช่วงพัฒนาเพื่อให้บริการกับสาธารณะ  ห้องสมุดของเราก็จัดเป็นหมวดหมู่ สังคม วรรณกรรม วิทยาศาสตร์ต่างๆ  แต่เราจะเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับข้อมูลของแม่น้ำโขงให้มากที่สุด อีกอันหนึ่งที่คิดว่าจะทำควบคู่กันไปด้วยก็คือการรวบรวม องค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปิน หรือนักเขียนที่ทำงานในเรื่องของสื่อท้องถิ่น แต่อดีต เกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์นิเวศวัฒนธรรม

“เรื่องราวของแม่น้ำโขงเป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ การพัฒนาแม่น้ำโขง หรือการที่จะไปข้างหน้าของแม่น้ำโขงที่ทำให้มันอยู่ได้ สำคัญที่สุดที่ครูเน้นมาตลอดก็คือ การให้ความรู้ ให้คนลุ่มน้ำโขงได้รับรู้ในเรื่องราวของแม่น้ำโขงเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ว่ามันเกิดอะไรขึ้นแล้วมีผลอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับเขาโดยตรง ดังนั้นห้องสมุดโฮงเฮียนแม่น้ำโขงจึงมีความสำคัญในการอนุรักษ์และขับเคลื่อนในการดูแลแม่น้ำโขง ผ่านภายใต้การยกระดับองค์ความรู้สู่การรับรู้ของชาวบ้านเป็นสำคัญ” ครูตี๋กล่าว

ถ้าเราพูดถึงแม่น้ำโขงทุกๆคนก็รู้อยู่ว่ามันเป็นแม่น้ำนานาชาติ แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงมันไม่ได้รับการแก้ไขดูแลโดยการร่วมกันของทุกๆชาติที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง แต่ส่วนมากไปมองกันที่การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงว่าจะได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง ไม่ได้พูดถึงการดูแลรักษาอย่างไร เรื่องพวกนี้มันจะต้องมีการแลกเปลี่ยนกันพุดคุยกันของผู้มีส่วนได้เสียริมน้ำโขง ซึ่งที่ผ่านมาการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงมันอยู่ภายใต้รัฐประชุมตลอดเราจะทำยังไงให้เสียงของชาวบ้านมีพลัง ทำให้ชาวบ้านมีที่ยืนเพื่อใช้ในการต่อรองในการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเรื่องพวกนี้มันต้องมีการพูดคุยเกิดขึ้นซึ่งเราก็พยายามทำอยู่ และพยามยามทำให้เห็นว่าเราทำงานทุกวันนี้เราไม่ได้ทำงานเพื่ออเมริกา เราไม่ได้ทำงานเพื่อจีน เราไม่ได้ทำงานเพื่อญี่ปุ่น เราทำงานเพื่อแม่น้ำโขง เพื่อปกป้องแม่น้ำโขง เพราะฉนั้นเราพยายามจะทำให้เห็นว่าคุณจะเป็นใครก็ได้ ถ้าคุณเห็นว่าแม่น้ำโขงมีความสำคัญต่อมนุษย์ แล้วคุณมาช่วยกันดูแลรักษาและช่วยกันปกป้องแม่น้ำโขง นั่นคือคุณเป็นพัมธมิตรของเรา ซึ่งมันสำคัญมาก

ภาพ-ข่าว ณัฐวัตร ลาพิงค์/เชียงราย