ที่สถานีตำรวจภูธรบ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผช.ผบ.ตร.  พล.ต.ต.ชินวิช วิชัยธนพัฒน์ ผบก.ภ.จว.เชียงราย พล.ต.ต.วรพงศ์ คำลือ ผบก.สส. ภ.5 พ.ต.อ.พีรพัทธ บุญพุทธ ผกก.สภ.บ้านดู่  เจ้าหน้าที่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จ.เชียงราย นักสหวิชาชีพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมพร้อมตั้งคณะกรรมการ ตรวจสอบและติดตามการกระทำผิดกรณีมีคนไทย อายุ 20-30 ปี ชาว อ.เมือง จ.เชียงราย ถูกชักชวนไปทำงานเป็นพนักงานในคาสิโน ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงกันข้ามแม่น้ำโขงกับ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย แต่กลับถูกบังคับให้เป็นแก๊งแสกมเมอร์หลอกให้คนเข้าไปลงทุน  จนสามารถหลบหนีกลับประเทศไทยได้

พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ กล่าวว่ากรณีนี้ได้ตั้งคณะกรรมการที่มาจากหลายหน่วยงานดังกล่าวเพื่อตรวจสอบว่าเป็นการเข้าข่ายเป็นขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่ หากว่าเข้าข่ายก็จะได้ดำเนินการคลี่คลายคดีให้ถึงที่สุดเพราะทาง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลมีนโยบายในการจัดการให้ประเทศไทยอยู่ในมาตรฐานเทียร์ หรือการปราบปรามการค้ามนุษย์ตามมาตรฐานสากล แต่หากไม่เข้าข่ายก็คงไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้  จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่ากรณีอาจเข้าข่ายเพราะมีความใกล้เคียงกับคดีเดิมที่ทาง ตำรวจภูธรภาค 5 ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้กรณีมีคนไทยถูกหลอกให้ไปทำงานกับแก๊งแสกมเมอร์โดยครั้งนั้นเป็นการถูกหลอกไปทำงาน แต่กรณีทั้ง 5 คนนี้ก็จะต้องสอบปากคำว่าถูกหลอกไปหรือสมัครใจไปเองซึ่งหากถูกหลอกก็ถือว่าเข้าข่าย

“ทางเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าคณะกรรมการจะเร่งสอบปากคำให้แล้วเสร็จโดยเร็วและหากสรุปผลเป็นคดีการค้ามนุษย์ก็จะเร่งดำเนินการเพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือคนไทยที่ยังคงตกค้างอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอีกเบื้องต้นจำนวน 6 คน โดยจะมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประเทศเพื่อนบ้านเพื่อติดตามช่วยเหลือกลับมาต่อไปซึ่งก็จะทำให้ประเทศไทยเราได้มาตรฐานเทียร์ตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป” ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าว

 สำหรับคนไทยทั้ง 5 คน เป็นหญิง 2 คน ชาย 3 คน ชาว อ.เมืองเชียงราย ซึ่งลักลอบข้ามไปทำงานเป็นหนึ่งใน 15 คนไทย ที่ถูกหลอกให้ไปทำงาน โดยให้การว่าพวกเขาข้ามไปทำงานใน สปป.ลาว เพราะมีคนในหมู่บ้านเดียวกันชักชวนให้ไป โดยอ้างให้ไปเป็นคนควบคุมระบบหรือแอดมินระบบออนไลน์ของบ่อนคาสิโนแลกกับเงินเดือน 30,000 บาท สัญญานงาน 6 เดือน ทำให้ทั้งหมดลักลอบข้ามแม่น้ำโขงไปยัง สปป.ลาว ทางด้าน อ.เชียงแสน ช่วงปลายเดือน ม.ค.2565 แต่เมื่อเข้าไปทำงานกลับถูกเอกชนรายหนึ่งที่อยู่ในโครงการคิงส์โรมันบังคับให้หลอกลวงทางเครือข่ายออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้เข้าไปลงทุนเทรดทอง หรือ ลงทุนเหรียญคริปโต ถ้าไม่ทำก็จะไม่ได้รับเงินหรือขายไปให้กับบริษัทอื่นต่อ ทำให้ทั้งหมดเห็นว่าไม่ตรงกับงานที่ต้องการและผิดกฎหมายจึงว่าจ้างคนให้พาหลบหนีข้ามมายังฝั่งไทยโดยเสียเงินไปคนละกว่า 44,500 บาท ต่อมาได้มีผู้ได้รับการช่วยเหลือออกมาอีก 6 คน และยังตกค้างอยู่อีกหลายคนโดยแต่ละคนติดต่อกับมาว่าได้ถูกขายไปอยู่กับ บริษัทใหม่แล้ว และบังคับให้ทำงานเป็นแก๊งแสกมเมอร์ วันละกว่า 15 ชั่วโมง

ภาพ-ข่าว ณัฐวัตร ลาพิงค์/เชียงราย