นายแพทย์ปฐมพงศ์  ปรุโปร่ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ เปิดเผยว่า จังหวัดอำนาจเจริญมีความอุดมสมบูรณ์ ทางธรรมชาติ มีอาหารที่หลากหลาย โดยเฉพาะเห็ดธรรมชาติ ถึงแม้ว่าปีนี้จังหวัดอำนาจเจริญจะยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษ    แต่ทั้งนี้ก็พบว่าในปีที่ผ่านมามีการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากเห็ดพิษในจังหวัดและจังหวัดรอบข้างเรา     ที่พบบ่อยได้แก่ เห็ดระโงกหิน และเห็ดระโงกดำพิษ เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาวหรือเห็ดไข่ห่าน หรือเห็ดไส้เดือนที่สามารถรับประทานได้ และเห็ดถ่านเลือด ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับเห็ดถ่านใหญ่ และเห็ดหมวกจีนที่มีลักษณะคล้ายกับเห็ดปลวกหรือเห็ดโคน 

สำหรับอาการที่เกิดจากการกินเห็ดพิษ    มีความแตกต่างกันตามชนิดและปริมาณเห็ดที่กินเข้าไป เช่น เห็ดระโงกหิน และเห็ดระโงกดำพิษ จะเกิดอาการภายใน 6-24 ชั่วโมง มีอาการท้องร่วง เป็นตะคริวที่ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน แสดงอาการประมาณ  1 วัน หลังจากนั้นมีอาการตับและไตวายและอาจเสียชีวิต   เห็ดหมวกจีน จะเกิดอาการภายใน 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง มีอาการเหงื่อออกมาก น้ำตาไหล น้ำลายไหล ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงชีพจรเต้นช้า และอาจทำให้เสียชีวิตได้ภายในครึ่งชั่วโมง   เห็ดหัวเกร็ดครีบเขียว จะเกิดอาการภายใน 15 นาทีถึง 4 ชั่วโมง ทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร   คลื่นไส้  อาเจียน  เป็นตะคริวที่ท้อง  ท้องเสีย  เห็ดถ่านเลือด จะเกิดอาการภายใน 2 ชั่วโมง มีอาการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร ต่อมาหลังจาก 6 ชั่วโมง         มีอาการเจ็บกล้ามเนื้อ ตับและไตวายและอาจเสียชีวิต  ดังนั้นหากพบผู้ป่วยที่กินเห็ดมีพิษต้องทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้ดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือ (เกลือ 3 ช้อนชาต่อน้ำอุ่น 1 แก้ว) แล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมามากที่สุด เพื่อลดการดูดซึมของสารพิษ หลังจากนั้นให้กินผงถ่าน (activated charcoal) โดยบดละเอียด 2 ถึง 3 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 แก้ว ผสมกับน้ำให้ข้นเหลว เพื่อดูดสารพิษของเห็ดในทางเดินอาหารแล้วรีบนำผู้ป่วยไปหาหมอหรือส่งโรงพยาบาล พร้อมกับนำเห็ดที่เหลือจากกินไปด้วย เพื่อให้แพทย์ใช้ประกอบการวินิจฉัย รักษาอาการ และส่งตรวจสอบชนิดของเห็ดพิษทางห้องปฏิบัติการ

นายแพทย์ปฐมพงศ์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า  ทั้งนี้มีข้อแนะนำที่สำคัญคือ หากไม่แน่ใจว่าเห็ดที่เก็บมาเป็นเห็ดพิษ หรือเป็นเห็ดที่รับประทานได้ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหารรับประทาน นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดร่วมกับการดื่มสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย/

ภาพ*ข่าว ทิพกร   หวานอ่อน/อำนาจเจริญ  รายงาน