ผู้เข้าประกวดนางสาวไทย ทั้ง 24 คน  ที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมการเก็บตัวของกองประกวดนางสาวไทย ประจำปี พ.ศ. 2565 ที่ จังหวัดอำนาจเจริญ  ได้เดินสายเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมของคนอำนาจเจริญ ในพื้นที่อำเภอลืออำนาจและอำเภอพนา โดยมีส่วนราชการและชาวอำนาจเจริญให้การต้อนรับด้วยความอบอุ่นตามวิถีคนอีสานอำนาจเจริญ   

ผู้เข้าประกวดนางสาวไทย ทั้ง 24 คน  ได้ร่วมทำบุญตักบาตร ที่ บริเวณเสมาพันปี วัดโพธิ์ศิลา ตำบลเปือย อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ  ร่วมกับ ชาวบ้าน ชุมชน ตามวิถีไทอำนาจ นุ่งซิ่นหมี่ สวมโสร่งไหม ห่มสไบเฉียง พร้อมเพรียงตักบาตร  โดยวัดแห่งนี้ได้มีการค้นพบใบเสมาพันปี  สมัยทวาราวดีขนาดใหญ่ สร้างจากหินทรายขาว อายุประมาณ 1,000 ปี ราว พ.ศ. 1200 – 1300  ศิลปะขอมแบบไพรกเมง มีลักษณะเรียว ปลายแหลม คล้ายใบหอกป้าน ด้านล่างคอดส่วนฐานสลักลายดอกบัวบาน ใบเสมาเหนือแนวกลีบบัวสลัก แนวแกนเสมาคล้ายรูปสถูปจำลองหรือปลียอดสถูป ด้านล่างเป็นรูปหม้อน้ำตั้งซ้อนอยู่บนองค์ระฆังคว่ำ ถัดไปเป็นปล้อง มีแนวลวดลายบัวคั่นตรงกึ่งกลาง แกนเสมาสลักลายใบไม้ 3 แฉก หงายขึ้นรับลายดอกไม้ครึ่งดอก ในขอบวงโค้ง 3 วงเรียงต่อกันส่วนยอดเป็นพุ่มปลายแหลมเหมือนยอดธงมีอุบะห้อย ลวดลายกลีบบัว บนฐานเสมาได้รับอิทธิพลมาจากลายกลีบบัว ฐานพระพุทธรูปหรือธรรมจักรศิลปทวาราว ดี ซึ่งแสดงถึงความรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน  จากนั้นได้ร่วมรับประทานอาหารร่วมกับชาวบ้าน และร่วมกิจกรรม Work Shop การทำภาชนะจากใบไม้กับชาวบ้านในชุมชนบ้านเปือย  อำเภอลืออำนาจ

จากนั้น ได้เดินทางไปที่  วัดพระเหลาเทพนิมิต   อำเภอพนา โดยมีมอบผ้าสไบและการแสดงฟ้อนรำศิลปะวัฒนธรรมพื้นถิ่นจากชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อต้อนรับคณะผู้เข้าประกวดนางสาวไทยต้อนรับ และร่วมกิจกรรมการประดิษฐ์พวงมาลัยจากข้าวตอกแตกเพื่อนำไปสักการะพระเหลาเทพนิมิต พระคู่บ้านคู่เมือง คนอำเภอพนาและจังหวัดอำนาจเจริญ  ซึ่ง พระเหลาเทพนิมิต เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิราบ มีขนาดหน้าตักกว้าง 2.85 เมตร สูง 2.70 เมตร  กล่าวกันว่า ‘พระเหลาเทพนิมิต’ เป็นพระพุทธรูป ที่มีพระพุทธลักษณะงดงามที่สุดในภาคอีสาน  สำหรับพระเหลาเทพนิมิต นอกจากจะมีความงดงามตามพุทธศิลปะแล้ว มีคำเล่าลือกันว่า ทุกคืนวันพระ 7 ค่ำ, 8 ค่ำ 14 ค่ำ, 15 ค่ำ องค์พระพุทธรูปพระเหลาเทพนิมิต จะแสดงพุทธานุภาพให้เกิด ลำแสงสีเขียวแกมขาวขจีลอยออกจากพระอุโบสถในเวลาเงียบสงัดทั้งนี้ การเข้ากราบนมัสการพระเหลาเทพนิมิต ผู้ต้องการบนบานขอให้ประสบความสำเร็จในชีวิต โดยเฉพาะคนที่ไม่มีบุตร มีการกล่าวกันว่า เมื่อมาบนบานขอจากพระเหลาเทพนิมิตแล้ว จะประสบความ สำเร็จสมดังที่ตั้งใจ ส่วนสิ่งของที่ใช้บนบานสานกล่าวก็คือ ดอกไม้ธูปเทียน และปราสาทผึ้ง หลังจากที่ผู้เข้าประกวดนางสาวไทยทั้ง 24 คนได้เข้าสักการะพระเหลาเทพนิมิตแล้วเสร็จ  ได้ทำ Work Shop การทำลูกประคบ หยอดสบู่สมุนไพร จากศูนย์แพทย์แผนไทยพนา   

และ เดินทางไปที่วัดอำนาจ  ตำบลอำนาจ อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ  ซึ่งเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่มี 5 อำนาจ และวัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานองค์พระเจ้าใหญ่ลือชัย พระคู่บ้านคู่เมืองของคนลืออำนาจ และคนจังหวัดอำนาจเจริญ  โดยผู้เข้าประกวดนางสาวไทย ทั้ง 24 คน ได้ชมการฟ้อนรำศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นจากน้องๆนักเรียนในพื้นที่ และร่วมกิจกรรมเรียนรู้การทำขันหมากเบ็งที่คนอีสานใช้ในการบูชาพระ และได้นำขันหมากเบ็งเข้าสักการะพระเจ้าใหญ่ลือชัย หรือ พระฤทธิ์ลือชัย ที่ ก่อด้วยอิฐ ถือปูน ลงรักปิดทอง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีพุทธลักษณะแบบศิลปะล้านช้าง สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2398-2404 ด้วยบริเวณวัดอำนาจ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน พระเจ้าใหญ่ลือชัยนั้น มีลักษณะเป็นชุมชนเก่าแก่ และเป็นที่ตั้งเมืองอำนาจเจริญมาก่อน จึงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์และปาฏิหาริย์ ของพระเจ้าใหญ่ลือชัยมากมาย จากผู้คนที่มากราบไหว้บูชาแล้วประสบความเจริญรุ่งเรือง มีชื่อเสียงเลื่องลือ ความเชื่อและศรัทธา คนโบราณเล่าลือกันว่าใครที่ได้มากราบไหว้ ขอพรจะได้รับความสำเร็จ ได้รับชัยชนะจากศัตรูหมู่มารมีอำนาจบารมีเป็นที่ยำเกรง ชีวิตผ่านพ้นปัญหาอุปสรรคนานาประการได้อย่างน่าอัศจรรย์   หลักจากที่คณะผู้เข้าประกวดนางสาวไทยได้เข้าสักการะพระเจ้าใหญ่ลือชัยแล้ว  ได้เข้าเยี่ยมชมถ้ำสิรินาคา และขอพรจากองค์พญานาคราช ณ ถ้ำแห่งนี้  ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งภายในวัดอำนาจที่ประชาชนเดินทางมาขอพรกันไม่ขาดสาย/

นายทิพกร  หวานอ่อน ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดอำนาจเจริญ  รายงาน