พ.ต.อ.สมชาย ขอค้า ผกก.สภ.โคกขาม จ.สมุทรสาคร ในฐานะประธานชมรมชาวปักษ์ใต้ จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย พ.ต.อ.พงษ์ศักดิ์ ชูนาค รอง ผบก.ภ.จว.นครปฐม สมาชิกชมรมชาวปักษ์ใต้ จ.สมุทรสาคร และพันธมิตรผู้มีจิตเมตตา ตลอดจน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  ผู้นำชุมชนในพื้นที่ตำบลนครชัยศรี อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ได้ร่วมกันมอบบ้านหลังที่ 19 ณ บ้านเลขที่ 84/2 หมู่ที่ 3 ต.นครชัยศรี อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ซึ่งเป็นบ้านสานฝันแห่งรอยยิ้ม ของชมรมชาวปักษ์ใต้ จังหวัดสมุทรสาคร ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ เครื่องนอน อาหารแห้ง รถวีลแชร์  และเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพ ให้แก่ นายพิษณุ แก้วพึ่งทรัพย์ อายุ  54 ปี ชายพิการขาลีบทั้ง 2 ข้าง  โดยมีครอบครัวคือ ภรรยา และบุตรชาย กับ บุตรสาว ร่วมรับมอบด้วย ซึ่งการจัดมอบบ้านในครั้งนี้ก็ได้มีการขอความร่วมมือในการจำกัดคนเข้าร่วม และมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย พร้อมกับการลงชื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการของการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ด้วย

  นายพิษณุ แก้วพึ่งทรัพย์ อายุ  54 ปี  เป็นผู้พิการขาลีบทั้ง 2 ข้าง ต้องใช้รถวีลแชร์ในการเคลื่อนย้ายร่างกายไปยังที่ต่างๆ  ประกอบอาชีพหลักเป็นช่างทำสลักดุน ซึ่งนับเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่ควรค่าแก่การสืบสานภูมิปัญญาให้คงอยู่ โดยทางผู้ที่ให้การช่วยเหลือครอบครัวนี้ ยังได้หารือกับทางสถานศึกษาในพื้นที่ เพื่อทำการบรรจุวิชาการทำสลักดุนให้อยู่ในแผนการศึกษา เพราะปัจจุบันหาคนทำแทบไม่ได้แล้ว  ซึ่งในส่วนของครอบครัวนายพิษณุฯ นั้น นับเป็นผู้ยากไร้อีกรายหนึ่ง ที่ทางชมรมชาวปักษ์ใต้ จังหวัดสมุทรสาคร มีความยินดีให้ความช่วยเหลือโดยผ่านการประสานงานร่วมกับ  พ.ต.อ.พงษ์ศักดิ์ ชูนาค รอง ผบก.ภ.จว.นครปฐม และผู้ใจบุญใจกุศล ขณะที่สภาพที่อยู่อาศัยเดิมเป็นเพียงแค่ เพิงพักไว้ใช้เพื่อหลับนอนสำหรับ 4 ชีวิตในครอบครัวนี้เท่านั้น แทบไม่สามารถกันแดดกันฝนอะไรได้เลย ต่อมาชมรมชาวปักษ์ใต้ก็ได้เข้าให้ความช่วยเหลือสร้างบ้านหลังที่ 19 ให้ อีกทั้งยังได้น้ำใจจากผู้ใจบุญหลายๆ คน ที่ร่วมกันมอบสิ่งของเครื่องใช้ให้แก่คนในครอบครัวนี้ ตลอดจนดูแลเรื่องการศึกษาให้แก่บุตรทั้ง 2 คน พร้อมกันนี้ยังมีการจัดหาอาชีพเสริมให้แก่นายพิษณุ แก้วพึ่งทรัพย์ ควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพช่างทำสลักดุน ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไปอีกด้วย

  สำหรับ “ช่างสลักดุน และ งานสลักดุน” เป็นงานฝีมือหมวดหนึ่งของงานช่างไทย อยู่ใน “ช่างสิบหมู่” ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา งานสลักดุน เดิมเรียกกันว่างานบุดุน เพราะจะใช้โลหะเป็นแผ่นบางๆ แล้วไปหุ้มบนวัสดุที่มีรูปทางแล้ว กล่าวคือ หุ้มข้างนอกวัตถุเดิม เพื่อให้เกิดความพิเศษเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เช่น การบุทองคำบนขันเงิน พานเงิน หรือพระพุทธรูป เป็นต้น แต่ปัจจุบันไม่ค่อยนิยม เพราะความบาง ของเนื้อโลหะที่มีความหนามากกว่า ฉะนั้นช่างบุดุน ปัจจุบันจึงพัฒนาเทคนิคจากงานบุดุนมาเป็นการสลักดุน ซึ่งสามารถใช้สิ่วสลักตอกลงไปบนแผ่นโลหะ และดุนขึ้นให้สูง หรือสร้างสรรค์งานได้ตามความต้องการ โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าเนื้อโลหะจะฉีกขาด หรือชำรุดได้ง่าย

ภาพ-ข่าว แมวดำ-ชัช มหาชัย จ.สมุทรสาคร