สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย โดยนายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องโชติกา โรงแรมเซ็นทรัลเพลส จ.สมุทรสาคร ตามความเห็นชอบของสมาชิกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ที่ได้ร้องขอให้มีการเปิดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น เพื่อหารือและยื่นข้อเรียกร้องต่อทางรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมงไทย ที่เป็นปัญหายืดเยื้อมานานกว่า 7 ปีแล้ว โดยการประชุมฯ ในครั้งนี้ก็มี นายประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี , พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำประมงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีจัดตั้งขึ้นมาได้ประมาณ 1 เดือนเศษ เพื่อทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการทำประมงโดยผิดกฎหมาย, พลเรือตรีชำนาญ พวงเพชร ผู้อำนวยการสำนักฝ่ายอำนวยการ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 1 (ศรชล.ภาค1) นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมงและคณะ มาเข้าร่วมรับฟังปัญหาของพี่น้องชาวประมง จากตัวแทนสมาชิกชาวประมง 25 องค์กร 22 จังหวัดชายทะเล ทั้งที่เดินทางมาเข้าร่วมประชุมภายในห้องประชุมและที่ประชุมผ่านระบบ ZOOM

 นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า   การประชุมที่จัดขึ้นนี้ เป็นไปตามที่สมาชิกฯ จำนวน 25 องค์กร 22 จังหวัดชายทะเล ได้ร้องขอให้สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเปิดการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น เพื่อเสนอเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งก็มีหลายเรื่องที่ชาวประมงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขปัญหา  อาทิเช่น 1.เรื่องข้อกังวลความเดือดร้อนของสมาชิก ต่อท่าทีของรัฐบาล เกี่ยวกับคำสั่งคณะอนุกรรมการตรวจสอบ และติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการทำประมง และ แรงงานในภาคประมง ที่ 4/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวัง การทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คณะทำงาน 4 ชุด) ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ ,2. เรื่องการแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจภาคประมง ,3. เรื่องปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การถูกกล่าวหาเรื่องการค้ามนุษย์ , 4. เรื่องการแก้ไขกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบต่างๆ ที่ไม่สอดคล้อง และไม่เป็นธรรม , 5. เรื่องการซื้อเรือคืน , 6. เรื่องการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ของภาครัฐในระยะเวลากว่า 7 ปีที่ผ่านมา , 7. เรื่องค่า MSY ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง , 8. เรื่องการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงได้ตามฤดูกาล และ 9. เรื่องขอให้ลดขั้นตอนต่างๆ ของกรมประมง และกรมเจ้าท่า เป็นต้น

 ขณะที่ทางด้านของนายประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวต่อผู้เข้าร่วมการประชุมว่า ที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้มีความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงมาตลอด โดยกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้เพราะต้องการให้เกิดการใช้ทรัพยากรของชาติอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม ดังนั้นขอให้พี่น้องชาวประมงเชื่อมั่นว่า รัฐบาลไม่ได้เพิกเฉยต่อปัญหาของพี่น้องชาวประมง และพร้อมที่จะนำทุกปัญหาเข้าสู่กระบวนการแก้ไข โดยหลังจากที่ได้รับฟังปัญหาของพี่น้องชาวประมงในวันนี้ก็จะนำไปเสนอต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป

 ส่วน พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะ  ประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย บอกให้ที่ประชุมทราบด้วยว่า ตนเองได้รับมอบหมายคำสั่งจากรองนายกรัฐมนตรี ในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดกฎหมายประมง และว่าด้วยเรื่องของการค้ามนุษย์ จึงต้องลงพื้นที่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอะไรผิดก็ต้องว่ากันไปตามความผิดที่กระทำ แต่ทั้งนี้ก็พร้อมที่จะรับฟังปัญหาของพี่น้องชาวประมงและแนวทางการแก้ไข เพื่อนำไปสู่การเสนอรองนายกรัฐมนตรีและคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอันส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมงต่อไปเช่นเดียวกัน

 ด้านนายมงคล สุขเจริญคณา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยและตัวแทนสมาชิก ก็ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น รัฐบาลไทยแสดงออกถึงความไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมงไทยตามข้อเรียกร้องที่เคยร้องเรียนไปหลายครั้งตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา และรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับกฎหมายของ EU มากเกินไป จนลืมความสำคัญและลมหายใจของพี่น้องชาวประมงไทยด้วยกันเอง ดังนั้นวันนี้หากรัฐบาลไทยยังคงเพิกเฉยอีก ก็เชื่อว่าไม่นานนี้อาชีพการทำประมงไทยต้องถึงเวลาล่มสลายจนสูญสิ้นอย่างแน่นอน

 ขณะที่ นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ยังได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวประมงไทยในวันนี้ ก็มาจากการที่ภาครัฐเข้ามาแก้ไขปัญหา IUU  Fishing ออกกฎหมาย กฎระเบียบ โดยไม่ได้ปรึกษาหรือสอบถามชาวประมงว่าปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับได้หรือไม่ ทำให้ชาวประมงประสบความเดือนร้อนในการประกอบอาชีพเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รวมเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 7 ปี ชาวประมงต้องปรับตัว บางคนต้องล้มละลาย บางคนต้องเสียชีวิต ชาวประมงที่เหลือและยังพอจะประกอบอาชีพประมงได้ ก็คงจะเหลือเวลาไม่นาน เนื่องจากชาวประมงต้องแบกภาระมากมาย ทำให้มีหนี้สินที่เกิดจากการประกอบอาชีพ ทั้งหนี้นอกระบบ หนี้ในระบบ และแม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะได้รับการปลดล๊อคจากกฎหมมาย  IUU  Fishing  จากใบเหลืองมาเป็นใบเขียวแล้ว แต่ภาครัฐก็ไม่ได้ผ่อนผันมาตรการอะไรให้คลายลง ยังซ้ำเติมชาวประมงด้วยกฎหมายและระเบียบเพิ่มขึ้นตลอดไม่รู้จบ ชี้ให้เห็นว่าภาครัฐไม่ได้มีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาให้ชาวประมงมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีแต่ทำลายให้ชาวประมงล่มสลาย  ดังนั้นหลังจากการประชุมในวันนี้เสร็จสิ้นลง หากรัฐบาลยังทำนิ่งเฉยเหมือนเดิม ทางสมาคมกาประมงแห่งประเทศไทยและสมาชิกก็คงจะอยู่นิ่งอีกไม่ได้แล้ว ซึ่งภายหลังจากการประชุมกันอีก 1 – 2 ครั้งที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้  ก็คงจะมีการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญเกิดขึ้น เพราะทุกวันนี้พี่น้องชาวประมงมีแต่กำลังจะล้มตายลงไปเรื่อยๆ หากปล่อยไว้นานวันเชื่อได้ว่า คงไม่เหลืออาชีพประมงในผืนแผ่นดินไทยอย่างแน่นอน

 ผู้สื่อข่าวยังรายงานด้วยว่า ในช่วงก่อนที่การประชุมจะเริ่มขึ้นนั้น ก็มีพี่น้องชาวประมงอวนครอบปลากะตักจาก 6 กลุ่มองค์กรกว่า 30 คน ได้รวมตัวกันมาถือป้ายแสดงความประสงค์ขอให้กรมประมงยุติการออกกฎหมายประมงมาตรา 3.2.3 ที่ส่งผลให้ชาวประมงอวนครอบปลากะตักได้รับความเดือดร้อน และไม่สามารถทำมาหากินได้อีกต่อไป โดยในเรื่องนี้ทางด้านของรองอธิบดีกรมประมงก็ได้มาชี้แจงทำความเข้าใจกับพี่น้องชาวประมงกลุ่มนี้ว่า ทางกรมประมงยังคงยึดกฎหมายเดิมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องชาวประมงอวนครอบปลากะตักอย่างแน่นอน ส่วนที่พี่น้องชาวประมงได้รับทราบมาจนนำมาสู่การถือป้ายนั้นเป็นเพียงร่างข้อเสนอก่อนการประชุม และเมื่อการประชุมของคณะทำงานสิ้นสุดลง ทุกคนก็ยังคงอนุญาต ให้พี่น้องชาวประมงอวนครอบปลากะตักทำการประมงได้เหมือนเดิมดังเช่นที่ผ่านมา ทั้งนี้เมื่อมีการสร้างความเข้าใจตรงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กลุ่มพี่น้องชาวประมงอวนครอบปลากะตักก็ได้แยกย้ายกันกลับไป

ภาพ-ข่าว แมวดำ จ.สมุทรสาคร