สำนักงานเกษตรอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จัดประกวดผลผลิตทางการเกษตร งานประจำปีของดีเมืองจะนะ ปี 2566 ณ บริเวณลานอเนกประสงค์หน้าสถานีรถไฟจะนะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา     เนื่องจากอำเภอจะนะเป็นเมืองเกษตรมีผลผลิตทางการเกษตรมากมายที่เกษตรกรในพื้นที่ปลูกและส่งเข้าประกวดในครั้งนี้ มีทั้ง มะพร้าวแก่และมะพร้าวอ่อน กล้วยน้ำว้า ฟักทอง แตงโมขนาดกลางและขนาดใหญ่ ข้าวโพดหวาน และส้มจุกพันธุ์พื้นเมือง พืชผักสวนครัวในภาชนะ

และที่สำคัญที่สุดในการประกวดผลผลิตทางการเกษตร ในครั้งนี้ก็คือ การประกวดส้มจุกพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งเป็นพืชอัตลักษณ์ของอำเภอจะนะเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟู ส้มสายพันธุ์นี้ให้กลับมามีชื่อเสียงเหมือนดั่งเดิมอีกครั้ง เนื่องจากในปัจจุบันนี้พื้นที่ในอ.จะนะ มีเกษตรกรปลูกส้มจุกประมาณ 90 รายในพื้นที่ 200 ไร่ และในขณะนี้ส้มจุกจะนะ ทางจังหวัดสงขลาได้เน้นย้ำให้ทางสำนักงานเกษตรอำเภอจะนะให้เร่งดำเนิน การฟื้นฟูและอนุรักษ์ตามโครงการฟื้นฟูพืชอัตลักษณ์ของอำเภอจะนะ

สำหรับผลผลิตส้มจุกพันธุ์พื้นเมืองจะนะ ผลมาตรฐาน 4 ผลต่อ 1 กิโลกรัม ๆละ 200 บาท ซึ่งเป็นราคาที่พ่อค้ามารับซื้อจากสวน เนื่องจากส้มจุกพันธุ์พื้นเมืองต้องใช้ระยะเวลา 8 เดือนหลังออกดอกจนส้มสุกเต็มที่ให้รสชาติหวาน อร่อย ความหอมของกลิ่นและเก็บขายตกราคาผลละ 50 บาท ในการประกวดส้มจุกพันธุ์พื้นเมืองจะนะในวันนี้ มีเกษตรกรส่งส้มจุกเข้าร่วมประกวด 29 ราย เนื่องจากในช่วงนี้ส้มจุกยังไม่สุกและยังไม่ถึงเวลาเก็บผลผลิต โดยต้องใช้เวลาอีก 1-2 เดือน ประมาณกลางเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม  2566 จึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้    

นางอัจฉรา ทองประดับ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอจะนะ กล่าวว่า สำนักงานเกษตรอำเภอจะนะจัดกิจกรรมประกวดผลผลิตทางการเกษตร มีส้มจุก ฟักทอง แตงโม มะพร้าวอ่อนมะพร้าวแก่ข้าวโพดและผักในภาชนะในการจัดประกวดผลผลิตทางการเกษตรของอำเภอจะนะ เพื่อเป็นการประชา สัมพันธ์ พืชผลทางการเกษตรของอำเภอจะนะ เพราะว่าอำเภอจะนะเป็นอำเภอใหญ่ มีลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่างกัน เราจะมีการทำการเกษตรในหลายรูปแบบซึ่งจริงๆแล้ว แม้ว่าพืชหลักของเราจะเป็นยางพารา แต่เราก็มีผลิตผลที่เด่นๆทั้งไม้ผล พืชผักอย่างเช่น แตงโม ฟักทองและผลไม้ที่สร้างรายได้ให้กับคนในอำเภอจะนะค่อนข้างสูง วันนี้ก็ถือว่า เป็นการประชาสัมพันธ์ของดีของอำเภอจะนะ ทางด้านผลผลิตทางการเกษตร

สำหรับส้มจุก ซึ่งเป็นไม้ผลอัตลักษณ์ของจังหวัดสงขลาและอำเภอจะนะ ปีนี้เราได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพืช GI หรือเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ชื่อก็คือ ส้มจุกจะนะ ซึ่งในปีนี้เราก็จะส่งเสริมให้เกษตรกรขอรับสัญลักษณ์ GI เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป้าหมายก็ไม่น้อยกว่า 50 ราย ในปีที่แล้ว มีเกษตรกรที่ได้รับเครื่องหมาย GI และนำไปใช้แล้ว 10 ราย ในปีนี้เราก็จะส่งเสริมให้เกษตรกรมาขอรับมาตรฐาน GI เพื่อนำไปใช้เพิ่มมูลค่าของส้มจุกให้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมพื้นที่ปลูกให้เพิ่มมากขึ้น มีการถ่ายทอดความรู้ในการดูแลรักษาส้มจุก ผ่านขบวนการของการส่งเสริมการเกษตรในระบบแปลงใหญ่ เพราะว่าอำเภอจะนะ เราจะมีแปลงใหญ่ส้มจุกอยู่แล้ว โดยมีสมาชิกหลักๆอยู่ 30 ราย ในปีนี้ก็จะขยายผลให้เพิ่มมากขึ้น

ภาพ-ข่าว นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา