ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร  มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร โดยรองศาสตราจารย์ ดร.วาโร เพ็งสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ได้ลงนามความร่วมมือการบูรณาการความร่วมมือการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จ และแม่นยำในอำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร กับภาคีเครือข่ายการพัฒนา จำนวน  14 หน่วยงาน  โดยมีนายกิติพันธ์ จันทร์สุข นายอำเภอกดุบาก  เป็นประธานในพิธี    โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้เลือกอำเภอกุดบากเป็นต้นแบบดำเนินการ “การบริหารจัดการแก้ไข ความยากจนระดับอำเภอ” ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนแบบมีเป้าหมายร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือให้หายจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ประกอบด้วยการดำเนินการ 4 ขั้นตอนหลัก ได้แก่  การพัฒนาระบบค้นหาสอบทานครัวเรือน   การพัฒนาระบบส่งต่อความช่วยเหลือ และตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ    การพัฒนาโมเดลแก้จนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม    และการจัดทำข้อเสนอนโยบายเพื่อจัดทำเป็นแผนแก้ไขความยากจนจังหวัดสกลนครต่อไป           

นายกิตติพันธ์ จันทร์สุข  นายอำเภอกุดบาก  กล่าวว่า  ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลัก ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง   อำเภอกุดบาก  เดิมมีครัวเรือนตกเกณฑ์ จำนวน 401  ครัวเรือน  ปัจจุบันได้รับการแก้ไขแล้วทั้งหมด โดยแบ่งการแก้ไขปัญหาออกเป็น 4 ด้าน   คือการเข้าไปปรับทัศนคติว่าต้องควรทำ ควรมีชีวิตอยู่อย่างไร   เข้าไปส่งเสริมทักษะอาชีพ   รวมถึงการสนับสนุนในด้านทรัพยากร    ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้  การอยู่อย่างพอเพียง และสามารถพึ่งตนเองได้  ขณะที่รศ.ดร.วาโร เพ็งสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ม.ราชภัฏสกลนคร กล่าวว่า   มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครได้ดำเนินการโดยทีมวิจัยที่มีความเข้มแข็ง  เป้าหมายคือเพื่อความยั่งยืน  ในเรื่องของอาหาร  สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น   โดยใช้กระบวนการวิจัยในการดำเนินงาน  โดยเฉพาะการวิจัยเชิงปฏิบัติการ  คือให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้มีส่วนร่วมเป็นพลังในการขับเคลื่อน              

ด้าน ผศ.ดร.วิจิตรา สุจริต หัวหน้าโครงการวิจัย ม.ราชภัฏสกลนคร  กล่าวว่า  เป้าหมายของการพัฒนาโมเดลแก้จน    โดยการทำงานเชิงพื้นที่ในหลายมิติ    บูรณาการองค์ความรู้ทั้งภูมิปัญญาชาวบ้าน  และความรู้สมัยใหม่  กลายเป็นกระบวนทัศน์ใหม่  ในการทำงานแก้ไขปัญหาความยากจน แบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ สู่ความยั่งยืน    ซึ่งการทำงานในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยฯ ทำงานร่วมกับภาคีทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม  โดยผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็จะตกอยู่ที่ประชาชนในพื้นที่

สำหรับโครงการวิจัยการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดสกลนครและการสร้างต้นแบบนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนระดับพื้นที่  ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการ ทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสำนักงานขับเคลื่อนการ ปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)    ทั้งนี้ อำเภอกุดบาก ได้ค้นหาและสอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจน จำนวน 1,917 ครัวเรือน ด้วยการค้นหาทุน ดำรงชีพ 5 ด้าน ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนกายภาพ ทุนเศรษฐกิจ ทุนธรรมชาติ และทุนสังคม นำมาสู่การวิเคราะห์ เพื่อเข้าใจความยากจน ค้นหาทุนชีวิต พิชิตความยากจน สามารถการจำแนกครัวเรือนออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ อยู่ ลำบาก อยู่ยาก อยู่พอได้ และอยู่ดี   หรือแบ่งออกเป็นกลุ่ม 20% ล่าง (กลุ่มอยู่ลำบากหรืออยู่ยาก) โดยมีการ ช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ส่งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง จำนวน 10 ครัวเรือน และกลุ่มเป้าหมาย 20% บน (กลุ่มอยู่พอได้หรืออยู่ดี ) ที่มีการสร้างการเรียนรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีพให้เกิดรายได้ด้วยโมเดล แก้จน จำนวน 147 ครัวเรือน            

โมเดลแก้จนเป็นการนำครัวเรือนยากจนให้เข้าสู่ห่วงโซ่การผลิต (Pro-Poor value chain) โดยการใช้ เทคโนโลยีในการปลูกผักในระบบเกษตรอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีน้ำน้อย การเพาะเห็ดขอนขาวโดยใช้หม้ออบแรงดัน การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ตามความต้องการของพืช การเลี้ยงหอยเชอรี่สีทอง การแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามและสี ธรรมชาติ การเพาะพันธุ์กล้าไม้ การสร้าง knowledge worker โดยมีเป้าหมายรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 10% ลด ค่าใช้จ่ายและได้บริโภคอาหารปลอดภัย  ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้พัฒนาต้นแบบนโยบาย “กุดบากออนซอน” ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ตำบลกุดบาก ที่ระบุถึงแนวทางการพัฒนา มาตรการ และ/หรือ กลไกในการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ ดำเนินการทดลองต้นแบบ ถอดบทเรียน เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนระดับพื้นที่แบบบูรณาการร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการ อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ(สอวช.) เสนอต่อสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เพื่อขยายผลการปฏิบัติสู่พื้นที่อื่นต่อไป กุดบากโมเดล จึงเป็นแพลตฟอร์มการบริหารจัดการแก้ไขความยากจนระดับอำเภออย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างฐานข้อมูลระบบและกลไกการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ภาพ-ข่าว วัฒนะ แก้วก่า จ.สกลนคร