ที่ห้องประชุมสำนักงานด่านศุลกากรช่องสะงำ ชั้น 2 อาคารสำนักงานด่านศุลกากรช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ  นายเชิดเกียรติ อัตถากร เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ พร้อมด้วย พันเอก กรวรานนท์ กลั่นพรมสุวรรณ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก รักษาราชการผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารและคณะ ได้เดินทางมาสำรวจและศึกษาเส้นทางพร้อมกับสร้างเครือข่ายกับจังหวัดชายแดนกัมพูชา-ไทย ทางภาคเหนือของกัมพูชา(จ. พระวิหาร และ จ. อุดรเมียนเรย) 

โดยได้ร่วมประชุมหารือกับ  นายสำรวจ  เกษกุล ผวจ.ศรีสะเกษ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนาความเชื่อมโยงในด้านต่างๆ  ระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่ง ผวจ.ศรีสะเกษ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอสภาพปัจจุบันการดำเนินงานและปัญหาต่างๆ ในเรื่องการข้ามแดน การค้า และการท่องเที่ยว บริเวณจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ   สถานการณ์แรงงานของจังหวัดศรีสะเกษ การจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมและประเพณีระหว่างไทย – กัมพูชา สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดศรีสะเกษ และการท่องเที่ยวบริเวณผามออีแดงอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารให้เอกอัครทูตและคณะได้รับทราบโดยมี นายพิชยา   เจริญสันต์  นายด่านศุลกากรช่องสะงำ จ่าเอกสมควร  สิงห์คำ  นายอำเภอภูสิงห์ พ.ต.ท.นที  ทองสุกแก้ว รอง ผกก.ตม.จว.ศรีสะเกษ น.ส.ธัญสุตา  นิยมชาติ  หน.สำนักงาน จ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมในครั้งนี้

นายเชิดเกียรติ อัตถากร เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ กล่าวว่า วันนี้ได้มาสำรวจดูพื้นที่บริเวณช่องสะงำเป็นส่วนหนึ่งของการมาดูพื้นที่บริเวณชายแดนไทย – กัมพูชาด้านที่ติดกันระหว่าง จ.อุดรมีชัยของกัมพูชากับด้าน จ.ศรีสะเกษและได้มีการพูดคุยกันหลายเรื่องกับทาง ผวจ.ศรีสะเกษซึ่งประเด็นหลักที่ได้พูดคุยกันมีอยู่ 3 เรื่องคือ เรื่องแรกในเรื่องของการบริหารจัดการบริเวณช่องสะงำ คือจุดผ่านแดนซึ่งเราเห็นว่าเอกสารในการเดินทางปัจจุบันนี้มีหนังสือเดินทางและมีบอร์เดอร์พาส ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทั้ง 2 ประเทศเราจึงได้พิจารณาดูว่าจะทำอย่างไรที่จะสามารถขยายให้มีเอกสารอีกหนึ่งอย่างก็คือบัตรผ่านแดนชั่วคราวได้หรือไม่ ซึ่งก็เป็นประเด็นหนึ่งที่เราจะได้พูดคุยกันเพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ประเทศ  ประเด็นที่ 2 ที่ได้มีการพูดคุยกันก็คือเรื่องเกี่ยวกับการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างประเทศซึ่งประเด็นนี้ได้มีการปรึกษาหารือกันระหว่างโรงพยาบาลคู่มิตรคือระหว่างโรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษกับโรงพยาบาลอันลองเวง จ.อุดรมีชัย เราจะทำอย่างไรจึงจะอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยจากกัมพูชาสามารถเข้ามารักษาตัวในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ในเขตประเทศไทย ทำอย่างไรจึงจะทำให้เป็นระบบที่ชัดเจนได้

นายเชิดเกียรติ อัตถากร เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่ 3 ก็คือในเรื่องของการท่องเที่ยวหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายไปแล้ว เราก็จะส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายกัมพูชาเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยและฝ่ายไทยเข้าไปเที่ยวที่กัมพูชา ในส่วนที่จะส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวจากกัมพูชาเข้ามาเที่ยวที่ประเทศไทยก็จะมีแรงจูงใจหลายอย่างเช่น การเดินทางมาวันศุกร์มากขึ้น มีกิจกรรมประเพณีร่วมกันระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายที่จัดขึ้น การที่สถานการณ์โควิดดีขึ้นน่าจะมีกิจกรรมระหว่างประชาชนกับประชาชนของทั้ง 2 ประเทศได้มากขึ้น เพราะว่าการติดต่อระหว่างประชาชนกับประชาชนจะเป็นพื้นฐานสำคัญระหว่างทั้ง 2  ประเทศนี้ ซึ่งทุกเรื่องจะมีการนำไปปรึกษาหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศต่อไป/

ภาพ / ข่าว  ศิริเกษ  หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ