มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยหน่วยความเป็นเลิศด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าว คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ร่วมกับ บริษัท ไฮโดรไทย จำกัด ผู้ดําเนินธุรกิจปุ๋ยสูตรพิเศษตามความต้องการของเกษตรกร ภายใต้เครื่องหมายการค้า ปุ๋ยไข่มุก ตราเรือใบไข่มุก มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการโครงการแปลงสาธิตพันธุ์ข้าว โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ นายไพฑูรย์ ติโลกวิชัย  ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท ไฮโดรไทย จำกัด เป็นผู้แทนลงนามทั้งสองฝ่าย  ทั้งนี้ มีผู้บริหารและหัวหน้าส่วนงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องเอกภพวิทยา อาคารจุฬาภรณ์ คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยแม่โจ้

การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้เกิดจากผลงานเป็นที่ประจักษ์ในวงการข้าวไทยซึ่งหน่วยความเป็นเลิศด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวมหาวิทยาลัยแม่โจ้มีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าวระดับโมเลกุล ได้ดำเนินงานต่อเนื่องมากว่า 20 ปี จนได้พันธุ์ข้าวคุณภาพ พันธุ์ข้าวใหม่หลายพันธุ์ ที่มีคุณสมบัติดีเพื่อผู้บริโภคและเกษตรกรไทย เป็นที่ยอมรับและได้รับรางวัลการันตีมากมาย  เช่น “ข้าวเหนียวหอม กข-แม่โจ้ 2” รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีเด่น จากสภาวิจัยแห่งชาติ และรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น จากกรมการข้าว ในปี 2555,  “ข้าวเจ้าก่ำแม่โจ้ 1 เอ” รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2560  ระดับดี จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, รางวัล Gold Award  “กำเนิดพันธุ์ข้าวหอมแม่โจ้” งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 และล่าสุดมหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงข้าวพันธุ์ใหม่ “หอมแม่โจ้ 90 ปี”ข้าวเหนียวหอม ต้นเตี้ย ทนทานต่อการหักล้ม ไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง เตรียมพร้อมปลูกทดสอบพันธุ์ในแปลงสาธิตเกษตรกร

จากผลงานดังกล่าว บริษัท ไฮโดรไทย จำกัด ซึ่งดําเนินธุรกิจปุ๋ยคุณภาพสูตรพิเศษตามความต้องการของเกษตรกร มานานกว่า 40 ปี ภายใต้เครื่องหมายการค้า ปุ๋ยไข่มุก ตราเรือใบไข่มุก ได้เชื่อมั่นผลการดำเนินงานด้านข้าวเพื่อเกษตรกรไทยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้โอกาสสนับสนุนมหาวิทยาลัยเพื่อร่วมกันบูรณาการด้านวิชาการ การวิจัย และการให้บริการวิชาการด้านพันธุ์ข้าว การใช้ปุ๋ยและการจัดการดิน โดยสนับสนุนปุ๋ยคุณภาพในแปลงนาสาธิตพันธุ์ข้าวเหนียว “หอมแม่โจ้ 90 ปี” ตลอดระยะเวลาทดสอบในแปลงนาสาธิตของเกษตรกร ทั้งนาปรัง และ นาปี ประมาณ 72 ไร่ ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนบน  เพื่อร่วมสร้างองค์ความรู้และสร้างขีดความสามารถการบูรณาการด้านวิจัย พัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการผลิตข้าวให้มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีศักยภาพการผลิตสูงขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในด้านการส่งออก สามารถแข่งขันกับนานาประเทศที่เป็นคู่แข่งในตลาดโลกได้ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาไทยพร้อมสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ของทั้งสองหน่วยงาน

นิวัตร  ธาตุอินจันทร์ เชียงใหม่