พล.ต.ประสิษฐิพงศ์ มูลดี รองผู้บัญชาการกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ  กองทัพภาคที่ 3 เปิดเผยว่า ภายหลังกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ  กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า ( บก.คฟป.ทภ.3 สน. ) ตรวจสอบสภาพอากาศในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ห้วง 7 – 13 ก.พ.65 พบว่า ภาคเหนือ มีค่าPM 2.5 เฉลี่ยอยู่ระหว่าง ระหว่าง 14 – 44 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, ค่า PM 10 ระหว่าง 21 – 67 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ ค่า AQI อยู่ระหว่าง 14 – 77  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  โดยพื้นที่ที่มีค่า PM 2.5 ,PM 10 และ ค่า AQI เฉลี่ยสูงตลอดสัปดาห์ ได้แก่ จังหวัดน่าน และ จังหวัดนครสวรรค์  ทั้งนี้คุณภาพอากาศโดยรวมของภาคเหนือยังคงมีสภาพอากาศอยู่ในระดับ ดี

 สำหรับจุดความร้อนในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ (ดาวเทียมระบบ VIIRS) ห้วง 7 – 13 ก.พ.65 พบเกิดจุดความร้อนสะสมจำนวน 1,428 จุด โดยเฉพาะในจังหวัดน่าน ลำปาง  และจังหวัดนครสวรรค์  ส่วนใหญ่เกิดจุดความร้อนในพื้นที่ป่าสงวน จำนวน 716 จุด, พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 356  จุด และพื้นที่เกษตรจำนวน 159 จุด

   อย่างไรก็ตาม ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา กอ.รมน.จังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้ลงพื้นที่เพื่อพบผู้นำชุมชน รณรงค์ลดการเผา ลาดตระเวนร่วมกับหน่วยงานเพื่อป้องปรามการเผาป่า และร่วมดับไฟกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ชุดปฏิบัติการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จำนวน 15 ชุด ลงพื้นที่เป้าหมายในการทำแนวกันไฟในพื้นที่เสี่ยง รณรงค์สร้างจิตสำนึกลดการเผาในชุมชน พร้อมร่วมสร้างฝายในพื้นที่ป่าเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ป่าต้นน้ำ ลดปัญหาหมอกควัน จำนวน  40 ครั้ง

 ส่วนชุดปฏิบัติการลาดตระเวนและดับไฟป่า  4 ชุด จากหน่วยทหารในจังหวัดเชียงใหม่เตรียมลงพื้นที่ 6 อำเภอของจังหวัดเพื่อลาดตระเวน เฝ้าระวังการดับไฟ ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายห้วงวันที่ 15 – 17 ก.พ.65

 รองผู้บัญชาการกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ  กองทัพภาคที่ 3 กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกองทัพบกได้ให้การสนับสนุนอากาศยานใช้งานทั่วไป แบบ 17 (MI-17) และอากาศยานไร้คนขับ (UAV ) สำหรับใช้แก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3  ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. – 15 มี.ค.65 ซึ่งกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ  กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้าจะได้บูรณาการในการใช้ยุทโธปกรณ์ร่วมกับศูนย์ไฟป่าหมอกควันระดับจังหวัดฯ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด