ที่ห้องประชุมโรงเรียนอุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย พัทลุง  นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายก อบจ.พัทลุง นายไกรวัฒน์ ธรรมเพชร นายกเทศมนตรี ต.เขาเจียก นายสมเกียรติ กรดเต็ม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตะแพน นายรนชัย ตั้งพูลผลวิวัฒน์ นายกเทศมนตรี ต.มะกอกเหนือ นายสมพงษ์ ปานเพชร นายกเทศมนตรี ต.ปรางหมู่ และนายภวัต อินทนุ ผู้เชียวงานโพน ได้ร่วมกันแถลงข่าวจัดงานประเพณ์แข่งโพนลากพระ ที่จะมีการจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม 65 ถึงวันที่ 23กันยายน 65  และปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุงเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน เพื่ออนุรักษ์ประเพณี อันดีงาม ที่เป็นเอกลักษณ์ของทางจังหวัด  โดยมีค่ายโพนทั่วจังหวัดพัทลุง กว่า 21 ค่ายโพนส่งเข้าแข่งขึ้น

โพนเป็นเครื่องตีประโคมเสียงอีกชนิดหนึ่งที่มีใช้กันอย่างแพร่หลายในภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดพัทลุงและจังหวัดใกล้เคียง ชาวบ้านยังนิยมสร้างโพนเพื่อนำไปใช้ตีบอกเวลา ในตีส่งเสียงเตือนภัยและใช้ตีประโคมเสียงในกิจกรรมชักพระในวันออกพรรษา แม้ว่าปัจจุบันจะมีเครื่องตีชนิดอื่นเข้ามาใช้แทน แต่การสร้างโพนก็ยังมีแพร่หลายในจังหวัดพัทลุง และได้พัฒนาจากที่เคยสร้างโพนเพื่อนำไปถวายวัดให้พระได้ใช้ตีบอกเวลาหรือตีโพนเพื่อการอื่น ก็ยังมีการสร้างโพนเพื่อจำหน่ายและสร้างเก็บไว้เพื่อใช้ตีในพิธีอื่นๆด้วย       

 การสร้างโพนก็ใช่ว่าจะสร้างกันได้ง่ายๆ ต้องอาศัยชาวบ้านผู้ที่มีประสบการณ์ในการสร้างโพนตามแบบโบราณมาช่วยกำกับดูแล เริ่มตั้งแต่จัดหาไม้เนื้อแข็ง ให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ตะเคียนทอง ไม้ขนุนและไม้ประดู่ เพราะเนื้อแข็งเนื้อจะไม่ยุ่ยเมื่อนำมาสร้างโพน แต่ปัจจุบันก็มีการช่างสร้างโพนได้นำไม้ตาลโตนดแทนการใช้ไม้เนื้อแข็งอื่น  เมื่อได้ไม้มาแล้วก็ตัดออกเป็นท่อนให้ได้สัดส่วนกับความใหญ่ของไม้ หลังจากนั้นก็เจาะขึ้นรูปและตบแต่งภายในให้เป็นอกไก่เพื่อกำหนดเสียงโพนให้มีเสียงดังตามภูมิปัญญาของช่างโพนแต่ละคน เสร็จแล้วก็นำหนังควายที่จัดเตรียมไว้ มาแช่น้ำเพื่อให้หนังอ่อนนุ่มและยังใช้ท่อนไม้ตีหนังควายเพื่อทำลายพังผืดและไขมันออกจากหนัง เมื่อหนังควายอ่อนบางได้ที่แล้วก็นำไปคลุมหน้าโพน ซึ่งได้เตรียมวางไว้กลางแจ้ง มีการใช้ไม้ทำเป็นคัดเบ็ดเพื่อยึดหนังให้ตึงและชาวบ้านจะช่วยกันตีโพน ต่อเนื่องหลายวันตีจนกว่าหนังควายจะตึงได้ที่แล้ว ก็นำสลักที่จัดไว้ปักยึดหนังให้ติดกับโพนและจะทำเหมือนกันทั้ง 2 หน้า สร้างโพนแต่ละลูกจะต้องใช้เวลา 15-20 วัน ก่อนที่จะนำออกมาตีและจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจหาซื้อโพนนำไปถวายวันในพื้นที่และต่างจังหวัด ปัจจุบันจังหวัดพัทลุง มีค่ายโพนมากถึง 32 ค่าย และจังหวัดพัทลุง มีโพนกระจายอยู่ตามค่ายโพนและยังใช้งานอยู่ตามวัดต่างๆในจังหวัดพัทลุง ประมาณ 800 ลูก และมีโพนบางลูกมีอายุยาวนานเกิน 100 ปี       

นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)พัทลุง) กล่าวว่า โพนเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของจังหวัดและจังหวัดพัทลุงเป็นหนึ่งเดียวของภาคใต้ที่ยังมีการอนุรักษ์รูปแบบการสร้างโพนแบบโบราณ นอกจากจะสร้างเพื่อนำไปถวายวัดให้พระได้ใช้งานแล้ว ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการสร้างโพนก็ยังได้จัดสร้างเพื่อจำหน่ายหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว และบางรายก็ยังทำเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนและจัดตั้งค่ายสร้างโพนเป็นอาชีพหลัก       

 และเพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ สืบสานประเพณีอันดีงาน ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป อบจ.พัทลุง ได้กำหนดจัดงานแข่งโพนลากพระยิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2565 ซึ่งปีนี้จังหวัดพัทลุงได้กำหนดจัดงานแข่งโพนลากพระจำนวน 5 สนาม  มีรอบคัดเลือกจำนวน 4 สนามและรอบชิงชนะเลิศในวันออกพรรษา โดยเริ่มแข่งสนามที่ 1 อบจ.พัทลุงร่วมกับเทศบาลตำบลเขาเจียก อ.เมืองพัทลุง จัดแข่งโพนที่บริเวณสวนสาธารณะเขาเจียกระหว่างวันที่31 สิงหาคม – 2 กันยายน สนามที่ 2 อบจ.ร่วมกับ อบต.ตะแพน อ.ศรีบรรพต จัดแข่งในระหว่างวันที่  7-9 กันยายน ณ สนามโรงเรียนตะแพน สนามที่ 3 อบจ.ร่วมกับเทศบาลตำบลมะกอกเหนือ อ.ควนขนุน จัดให้มีการแข่งโพนระหว่างวันที่  14-16 กันยายน ณ สนามอุทยานปรมาจารย์สายเขาอ้อ สนามที่ 4 อบจ.ร่วมกับเทศบาลตำบลปรางหมู่ อ.เมืองพัทลุง จัดแข่งในวันที่ 21-23 กันยายน ที่สนามหน้าที่ทำการเทศบาลตำบลปรางหมู่ ส่วนสนามชิงชนะเลิศ อบจ.พัทลุงร่วมกับเทศบาลเมืองพัทลุง จัดแข่งที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง ในระหว่างวันที่   7-10 ตุลาคม     

การแข่งขัน 4 สนามรอบคัดเลือกนั้น จะมีการจัดแข่งตั้งแต่โพนขนาดเล็ก ความกว้างหน้าโพนไม่เกิน 38 ซม. ขนาดกลาง เส้นผ่าศูนย์กลางเกิน 38-48 ซม. โพนขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางหน้าโพนเกิน 48-68 ซม. และโพนเยาวชนชาย –หญิง เส้นผ่าศูนย์กลางหน้าโพนไม่เกิน 38 ซม. ทางคณะกรรมการ จะนำเอาโพนที่ชนะเลิศรองชนะเลิศเข้ารอบแต่ละสนามรุ่นละ 2 คู่ สนามละ 8 คู่ มาแข่งในรอบชองชนะเลิศ และโพนที่ชนะเลิศทั้ง 4 รุ่นจะได้รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีและปีนี้จะมีการประกวดติดสินมอบรางวัลโพนสวยงามอีกด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีค่ายโพนและวัดต่างๆในจังหวัดพัทลุงและจังหวัดใกล้เคียง ส่งโพนเข้าแข่งขันจำนวน 4 รุ่นไม่น้อยกว่า 500 ลูก และโพนที่ชนะเลิศการแข่งขันทุกรุ่นจะได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

ภาพ-ข่าว ไสว รุยันต์ จ.พัทลุง