จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเฉพาะ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุน รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน  ทั้งในและพื้นที่ใกล้เคียง โดยอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จึงได้ถูกกำหนดให้เป็น 1 ในพื้นที่เมืองต้นแบบเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแบบผสมผสาน ที่เปรียบเสมือนประตูด่านหน้าที่สำคัญของจังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการเชื่อมต่อไปยัง   ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และการค้าในพื้นที่ ซึ่งจากนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนหลักการที่สำคัญ คือ การเพิ่มพื้นที่การปลูกพืชเศรษฐกิจตามกรอบการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม   พ.ศ.๒๕๖๐ ที่ผ่านมา โดยได้สนับสนุนการนำร่องการขยายพื้นที่การปลูกมะพร้าว ให้แก่เกษตรกรจำนวน 200 ราย ในพื้นที่ 12 ตำบล ของอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี บนพื้นที่กว่า 706 ไร่ ตามความต้องการจากภาคเอกชนที่มีความประสงค์ต้องการจะไปลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าว ทั้งในส่วนของมะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวกะทิเป็นผลิตภัณฑ์มะพร้าวแปรรูป โดยการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี วางระบบการพัฒนาเกษตรฐานรากได้อย่างครบวงจร   ตั้งแต่ต้นทางไปสู่การแปรรูปหรือกลางทาง ตลอดจนจัดระบบช่องทางตลาดที่ปลายทางให้มีความยั่งยืน ซึ่งได้ดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ พืชเศรษฐกิจ ช่วงต้นทาง ดำเนินการขยายพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เช่น มะพร้าว     ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูก 6 แสนไร่ ต้องการขยายอีก 6 แสนไร่ เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของโรงงานแปรรูปมะพร้าวได้อย่างครบวงจร

 ปัจจุบันได้มีการก่อสร้างโรงงานผลิตมะพร้าวแบบครบวงจรในพื้นที่ดังกล่าว เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้เปิดทำการแปรรูปมะพร้าวพร้อมรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่มาแล้ว ภายใต้บริษัทชายแดนใต้ฟู๊ดโพรเซสซิ่ง จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับบริษัทปาล์มพัฒนา ตำบลบางเขา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการนำผลผลิตมะพร้าวไปจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะนายกรัฐมนตรี ได้มีการลงพื้นที่มาเยี่ยมชมโรงงานมะพร้าวแห่งนี้ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการผลักดันให้โรงงานแห่งนี้เกิดขึ้น เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเดิมมีแค่โรงงานปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ แต่ปัจจุบันได้มีการก่อตั้งโรงงานมะพร้าวขึ้น มีเกษตรกรทยอยนำผลผลิตเข้ามาขายเป็นจำนวนมาก เพื่อให้โรงงานนำผลผลิตที่ได้รับไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร ซึ่งระยะกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา เห็นถึงความก้าวหน้า และความสำเร็จที่ชัดเจน ศอ.บต. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาล ที่มีหน้าที่ในการดูแลคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ได้มีการส่งเสริมและผลักดันมาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ทั้งในเรื่องของการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมะพร้าวและขยายพื้นที่ปลูกให้มากขั้น รวมถึงหาช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ และเรื่อง Soft Loan เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เชื่อมต่อประสานงานกับผู้ประกอบการต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบตะวันออกกลาง เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เมืองต้นแบบ และทำให้เกษตรกรได้มีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตในราคาที่สูงขึ้น และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งไปยังพื้นที่อื่น นอกจากนี้ยังส่งผลให้มีการขยายโอกาสด้านแรงงานให้กับประชาชนตลอดจนเยาวชนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดห่วงโซ่การผลิตและการจ้างงานจำนวนมาก โดยเฉพาะในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ เช่น การรับซื้อผลมะพร้าวไปแปรรูปจากมะพร้าวผลเป็นมะพร้าวเนื้อขาว ซึ่งเชื่อว่าอนาคตผลผลิตมะพร้าวจะเป็นพืชเศรษฐกิจหลักในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ด้านนางสาวอรินลดา มณีโชติ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาดบริษัทชายแดนใต้ฟู๊ดโพรเซสซิ่ง จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทชายแดนใต้ ฟู๊ดโพรเซสซิ่ง จำกัด เป็นบริษัทน้องใหม่ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของครอบครัว ที่ได้มองเห็นถึงศักยภาพในการปลูกมะพร้าวของพื้นที่ จึงทำให้เกิดการก่อตั้งโรงงานแปรรูปมะพร้าวขึ้น และปัจจุบันได้เปิดทำการมาแล้วกว่า 2 เดือน มีการเปิดรับซื้อมะพร้าว จากเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียง วันละกว่า 45,000 ลูก และส่งต่อให้กับโรงงานนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำกะทิปรุงสำเร็จ น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม ฯลฯ ซึ่งในห้วงที่ผ่านมาได้นำสินค้าเหล่านี้ไปออกบูทยังพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้ได้รับเสียงตอบรับจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก       อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการ โดยเฉพาะศอ.บต. ที่ได้เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมะพร้าวและขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น เพื่อรองรับผลผลิต และนำมาขายให้กับโรงงานได้ นอกจากนี้ในส่วนของแรงงานขณะนี้โรงงานมีจำนวนแรงงานทั้งหมดกว่า 50 คน ซึ่งเป็นบุคลากรที่อยู่ในพื้นที่ทั้งหมด หากอนาคตโรงงานมีกำลังการผลิตอย่างเต็มรูปแบบ คาดว่าจะมีการรับซื้อมะพร้าวจากเกษตรกรได้วันละกว่า 240,000 ลูก และจะมีความต้องการแรงงานกว่า 100 – 200 คน เพื่อให้มีแรงงานเพียงพอต่อกำลังการผลิตที่จะส่งออกสู่ตลาดทั้งในต่างประเทศได้ โดยเฉพาะประเทศในแถบตะวันออกกลางด้วย                  เพราะเนื่องจากโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และกว่า 80 % แรงงานของเราเป็นพี่น้องชาวมุสลิม ซึ่งถือเป็นความได้เปรียบกว่าภูมิภาคอื่น ในการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ เชื่อมั่นว่าจะสามารถเจาะตลาดในแถบตะวันออกกลางตลอดจนทั่วโลกได้เป็นอย่างดี

 ขณะที่นางซัลมา อีแต ตัวแทนกลุ่มพ่อค้าคนกลางในพื้นที่ตำบลบางเขา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า  รู้สึกดีใจที่วันนี้ในพื้นที่มีโรงงานรับซื้อมะพร้าวตั้งอยู่ในพื้นที่แล้ว ก่อนหน้านี้ตนได้ไปรับซื้อมะพร้าวจากเกษตรกรในพื้นที่ เดือนละ 1 – 2 ครั้ง และเดินทางไปขายในพื้นที่จังหวัดสตูล แต่เมื่อรู้ว่ามีโรงงานอยู่ใกล้บ้าน จากที่ต้องเก็บผลผลิตเดือนละครั้ง  ตนก็ได้เก็บ 3 วัน ครั้ง และนำผลผลิตมาขายให้กับโรงงานแห่งนี้ โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปไกล ถือเป็นการลดค่าใช้จ่าย และทำให้รายได้เพิ่มขึ้นด้วย

 เช่นเดียวกับนายสุริยา สายิ เจ้าของสวนมะพร้าวหมู่ที่ 3 ตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ตนมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวกว่า 30 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมามีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อมะพร้าวที่สวนของตน 1 – 2 ครั้ง/เดือน ได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 1,000 – 2,000 ลูก แต่หลังจากนี้ทราบแล้วว่ามีโรงงานรับซื้อมะพร้าวอยู่ในพื้นที่ ตนจะนำผลผลิตไปขายเอง  เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายมะพร้าวที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางและไม่โดนกดราคาต่อไป

อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนและดำเนินงานของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในระดับฐานราก ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายหลักของรัฐบาล เพื่อมุ่งหวังให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ มีอาชีพ มีรายได้ และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน

ภาพ-ข่าว อะหมัด รามันห์สิริวงศ์/ยะลา/