ที่ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง จัดงานวันสาธิตและเทคโนโลยีการผลิตและเก็บเกี่ยวข้าวไร่ ” คืนพันธุ์ข้าวไร่ ให้แผ่นดินถิ่นใต้” ซึ่งมีเกษตรกรภาคใต้ ชาวจังหวัดพัทลุง ชาวจังหวัดตรัง ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่ใกล้เคียง กว่า 500 คน นำแกระและเคียวเกี่ยวข้าว พร้อมกระสอบเก็บพันธุ์ข้าว มาใส่ข้าวไร่พันธุ์ดอกพะยอม เพื่อนำไปทำเมล็ดพันธุ์และมีการจัดนิทรรศการข้าวไร่พันธุ์ต่าง ๆ ภายในงาน  โดยก่อนเริ่มกิจกรรมเกี่ยวข้าวไร่นั้น ได้มีการจัดพิธีบูชาพระแม่โพสพทำขวัญข้าวหรือพิธีรับขวัญแม่โพสพ เป็นพิธีขอขมาพระแม่โพสพเป็นการเตรียมเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวฤดูการทำนา ซึ่งเมื่อเราเดินไปในนาเผลอไปเหยียบต้นข้าว ต้นข้าวหักล้มก็จะเป็นการขอขมาพระแม่โพสพบอกกล่าวว่าอย่าให้มีอุปสรรคใด ๆ ในการทำนา โดยมีนายกฤษณะ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ร่วมทำพิธี

นายก้องสกุล จันทราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “คืนพันธุ์ข้าวไร่ให้แผ่นดินถิ่นใต้”  โดยมีนางสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว ร่วมเป็นเกียรติภายในงาน และร่วมกันใช้เคียวเกี่ยวข้าว ปฐมฤกษ์เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นเก็บเกี่ยว จากนั้นทางเกษตรกร นักเรียน เจ้าหน้าที่ กว่า 500 คน ร่วมเก็บเกี่ยวข้าว เพื่อนำไปต่อยอดทำเป็นแม่พันธุ์ข้าว เพื่อนำไปปลูกและขยายพันธุ์ในพื้นที่ของตนเองต่อไป ทั้งในพื้นที่พัทลุง จังหวัดตรัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนเด็ก ๆ ที่มาทำกิจกรรมก็ได้มาเรียนรู้ในการเก็บเกี่ยวข้าวและความเป็นมาของข้าวแต่ละกอ บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักสนุกสนาน

จากนั้นมีการเสวนาเรื่อง “ข้าวไร่ไม่สูญหายและความท้าทายในเชิงพาณิชย์” โดยมีผู้ร่วมเสวนา นายวิสุทธิ์ วิบูลย์พันธุ์ ตัวแทนผู้ประกอบการร้านอาหารที่พักในจังหวัดพัทลุง นายวิชาญ ช่วยชูใจ นักสืบสานเพื่อการพัฒนาผู้ดำเนินรายการวิทยุโทรทัศน์และผู้ประกอบการร้านทางไทยเอาท์เลท นายกฤษณะ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง และนายธัชชาวินทร์ สะรุโณ อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 ซึ่งใช้เวลาในการเสวนาประมาณ 1 ชั่วโมง

 นางสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว บอกว่า เกิดจากที่ว่าเรื่องของพันธุ์ข้าวไร่ต้องกลับมาฟื้นฟู เนื่องจากเป็นพันธุ์เฉพาะถิ่น และมีเสน่ห์เฉพาะที่น่าสนใจเพียงแต่ว่าปัญหาหลัก พันธุ์ที่เกษตรกรปลูกในพื้นที่ของตนเองมันเป็นพันธุ์ไม่บริสุทธิ์ มีปลอมปน ไม่คุ้มกับการปลูกจึงคัดสายพันธุ์บริสุทธิ์ขึ้นมา ซึ่งตอนนี้ในโครงการมีทำ 80 กว่าสายพันธุ์ อย่างที่เราเห็นเบื้องหลัง ก็คือนำเกษตรกรที่มีความตั้งใจ นำพันธุ์บริสุทธิ์ไปปลูกในแปลง ซึ่งเกษตรกรมีแรงที่จะเกี่ยวใส่ในกระสอบเท่าไหร่ เพื่อเอาพันธุ์ตรงนี้ไปปลูกในผืนที่นาของตนเอง เพื่อเป็นข้าวพันธุ์บริสุทธิ์และเก็บเอาไว้ปลูกในฤดูถัดไป

การผลักดันของกรมการข้าวก็คือเรื่องของการคิดนโยบาย คือการให้งบประมาณกับการให้แนวทางยุทธศาสตร์เรื่องของการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง เราจะต่อยอดไปถึงพันธุ์ข้าว GI เช่นข้าวสังข์หยด พันธุ์ข้าวดอกพะยอมก็อาจจะตามไป มันจะได้ประโยชน์ในเรื่องของมูลค่าทางการตลาด กับความเป็นชื่อเสียงของจังหวัดพัทลุง ที่จะเป็นอัตลักษณ์และพื้นถิ่นตามข้าวสังข์หยดขึ้นไป และในตอนนี้นักวิจัยกำลังไปสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมซึ่งตอนนี้ได้ประมาณ 3-4 จังหวัดของภาคใต้ ซึ่งการปลูกข้าวไร่ ไม่เหมือนข้าวอื่นทางเชิงเศรษฐกิจ ต้องดูว่าเกษตรกรรักที่จะปลูกพันธุ์นี้นิยมไหม และเราก็จะเข้าไปสนับสนุน ยินดีที่จะขยายพื้นที่ออกไป แต่โดยหลักๆแล้วจะปลูกข้าวให้พอกิน เพื่อความมั่นคงทางอาหารมากกว่า  

นายกฤษณะ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง บอกว่า วัตถุประสงค์หลักปลูกข้าวไร่เพื่อถวายในหลวงร.9 ซึ่งข้าวไร่น่าจะมีความสำคัญมากขึ้นเพราะใช้น้ำน้อย และอยากสร้างรายได้เพิ่มให้กับชาวจังหวัดพัทลุง ในทุกภาคส่วน เพราะนักท่องเที่ยวเมื่อมาเที่ยวจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นเมืองรองต่อปีมีเป็นล้านคน ถ้าเราทำการเกษตร พบว่ามีข้าวไร่ที่จะต่อยอดได้ เนื่องจากข้าวไร่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของเขา และวิถีการทำนาในปัจจุบัน ก็มีการเปลี่ยนไปเยอะ เดิมจังหวัดพัทลุง มีนา 4.5 แสนไร่ แต่ปัจจุบันเหลือ 1.3 แสนไร่ แต่ว่าการปลูกข้าวนั้นไม่จำเป็นที่ต้องปลูกในนาก็ได้ สามารถปลูกแซมพืชหรือปลูกข้างบ้านได้ และยังสามารถนำมาเพิ่มมูลค่าได้ จากนี้คิดว่าจะทำการขยายพันธุ์ข้าวไร่ ไปสู่เกษตรกรผู้ปลูก ซึ่งมีตลาดรองรับอยู่แล้ว ควบคู่ไปพร้อมกับร้านผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งคาดว่าเราจะทำต่อเนื่อง และที่มาในวันนี้ก็มีทั้งจังหวัดพัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราชบางส่วน ในส่วนของพันธุ์ข้าวดอกพะยอมนั้น เป็นข้าวไร่พันธุ์แรกที่ศูนย์วิจัยพัทลุง รับรองตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งมีมานานแล้ว แต่ความต้องการของเกษตรกร ยังเป็นที่ยอมรับและต้องการ ถือว่าเป็นพันธุ์ที่ปลูกได้และขึ้นได้ในสภาพดีในพื้นที่จังหวัดพัทลุง แล้วจากนี้ก็จะมีการค้นหาสายพันธุ์ที่จะมาเคียงคู่กับสายพันธุ์ดอกพะยอมต่อไปด้วย วันนี้ที่แจกให้เกษตรกรไปประมาณ 6 ไร่เศษ และมีแปลงสำรองเอาไว้ด้วย ก็เอาไปสนับสนุนให้แก่เกษตรกรที่ไม่ได้มาในวันนี้ หรือเกษตรกรที่ได้ไปไม่เพียงพอ โดยเราจะเก็บเกี่ยวแบบประณีตเราไม่ได้ไว้ขาย วันนี้รู้สึกว่าได้รับผลตอบรับดีมาก เกินคาดคนมาประมาณ 500-600 ได้ ทั้งนี้ อยากฝากบอกแก่เกษตรกรว่า อย่าคิดว่าการทำข้าวไร่ต้องทำแต่ในสวนยางพารา อย่าไปทำในสวนยกร่องปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งไม่จำเป็น พื้นที่ว่างหรือข้างบ้านก็ปลูกได้ เพราะข้าวไร่ไม่ต้องการน้ำมาก แค่ปลูกให้ตรงในช่วงฤดูเดือนสิงหาคม สามารถเก็บเกี่ยวได้ในต้นเดือนมกราคม                 

นายศักดิ์ เพชรสุข ประธานศูนย์ข้าวชุมชน ต.ตะโหมด จ.พัทลุง บอกว่า เตรียมสมาชิกมาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ พร้อมกับการเตรียมอุปกรณ์ ซึ่งกิจกรรมนี้ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมาก ซึ่งเกษตรกรจะได้เมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ เพราะศูนย์วิจัยฯจัดการเองทำให้เกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์ที่อุดมสมบูรณ์สามารถนำไปขยายผลของข้าวดอกพะยอม เป็นข้าวที่มีคุณภาพตั้งแต่โบราณ ซึ่งปัจจุบันข้าวดอกพะยอมจะมีน้อยลง ทำให้วิถีของข้าวลดลง ส่วนใหญ่คนซื้อข้าวที่มีเคมี ซึ่งข้าวพันธุ์นี้จะใช้น้ำน้อย ทนแล้งได้ดี ซึ่งถ้าเราบริโภคข้าวที่ไม่สมบูรณ์จะทำให้เรามีโรคต่าง ๆ ทั้งนี้สมาชิกของเราก็จะนำพันธุ์ข้าวนี้ไปขยายพันธุ์ต่อไปในพื้นที่นา

 นายอำมร สุขวิน อายุ 54 ปี เกษตรกรชาวพัทลุง(สวมเสื้อด้านในสีเขียว) บอกว่า วันนี้เตรียมเคียวและแกระมาเกี่ยวข้าว พันธุ์ดอกพะยอม และคิดว่าจะนำไปขยายพันธุ์ต่อ ซึ่งในชุมชนยังหายาก เป็นข้าวที่อร่อยน่ารับประทาน คาดว่าช่วงแรกน่าจะ 2-3 ไร่ก่อนแล้วค่อยขยับขยายเพิ่ม และทางศูนย์ฯได้เข้าไปส่งเสริมเกี่ยวกับข้าวอินทรีย์ทำนาแปรรูปครบวงจรให้แก่ตนเอง ในความหลากหลายตรงนี้ก็จะนำเมล็ดพันธุ์ไปขยายต่อในพื้นที่และขอขอบคุณผอ.เจ้าหน้าที่ ทุกท่านที่ให้การสนับสนุนในชุมชนตลอดมา

นางชื่นชม เพียรดี อายุ 71 ปี เกษตรกรชาวนาตรัง บอกว่า ตนเองมาจากจังหวัดตรัง ได้เตรียมแกระมาเก็บข้าว จะนำไปทำไร่นาต่อ ที่บ้านมีทั้งหมด 5 ไร่ พันธุ์ข้าวดอกพะยอมที่ตรังยังไม่มี ก็ดีใจวันนี้ที่ได้พันธุ์ข้าวนี้กลับไปปลูกที่บ้านต่อ  นายวิโรจน์ ศรีสมจิตร ปราชญ์ จ.ตรัง ประธานกลุ่มข้าวไร่ ต.บางดี อ.ห้วยยอด จ.ตรัง บอกว่า ตัวเองเป็นเกษตรกรชาวตรัง ในตำบลของตนเองก็มากัน 8-9 คน วันนี้เตรียมทั้งแกระและเคียวเกี่ยวข้าว มาเกี่ยวข้าว จะนำไปปลูกเพื่อเป็นข้าวพันธุ์ในตำบลบางดีต่อไป เพราะที่แล้วมาพันธุ์ข้าวดอกพะยอมจะกลายพันธุ์ไปเยอะ ตั้งใจจะมาเก็บตรงนี้เพื่อไปรักษาพันธุ์ดั้งเดิมไว้ ทุกวันนี้รู้สึกดีที่ได้มาร่วมกิจกรรม เพราะว่าคนเราไม่ว่าจนหรือรวยสิ่งสำคัญก็อยู่ที่ข้าวเพราะทุกคนต้องกินข้าว

  นายนรินทร์ เอ้งฉ้วน เกษตรกรชาว อ.กันตัง จ.ตรัง บอกว่า ตนเองเป็นน้องใหม่ นับว่าเป็นปีแรกที่ได้ทำข้าวไร่ ปีนี้ก็พยายามฟื้นฟู ชวนชาวบ้านมาทำข้าวไร่มากขึ้น ซึ่งตอนนี้พบว่ามีประชาชนเริ่มให้ความสนใจที่จะหันมาทำข้าวไร่ ตั้งเป้าที่จะทำข้าวแปลงใหญ่ขึ้นมา ที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะจะได้เก็บเมล็ดพันธุ์ไปต่อยอด ซึ่งเมื่อปี 65 ยอมรับเลยว่าไม่มีสายพันธุ์กว่าจะได้ทำข้าวไร่มันก็ล่วงเลย และปีนี้ทำข้าวไร่ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะฝนเยอะ ทางกลุ่มน้องใหม่ของตนเองก็ได้ทำธนาคารเมล็ดพันธุ์ ด้วยการแจกเมล็ดพันธุ์ปี 65 ให้แก่สมาชิกไป เพื่อให้เกษตรกรพื้นไร่นา 5 กิโลกรัมเพื่อจะเอาไปทำเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรคนไหนสนใจก็สามารถมาขอเบิกได้แต่ต้องคืนเมล็ดพันธุ์ทุกปี

ด้านกลุ่มน้อง ๆ นักเรียนโรงเรียนวัดบ้านสวน จ.พัทลุง บอกว่า วันนี้เรามาเก็บข้าว มากันทั้งหมด 18 คน เป็นนักเรียนชั้นป.5 ทั้งหมด ได้ผลประโยชน์เอาไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน ถ้าไปเกี่ยวข้าวในนาที่บ้าน แล้วเราจะรู้ได้ว่าสถานที่ที่ใดสามารถปลูกข้าวได้

ภาพ-ข่าว สุนิภา หนองตรุด จ.ตรัง