ที่ศาลากลางจังหวัดชุมพร กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ในตำบลรับร่อ และตำบลท่าข้าม อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร จำนวน 19 ราย นำโดยนายสัญญา คลี่เกสร อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 82 หมู่ที่ 10 ต.ท่าข้าม อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รอง ผวจ.ชุมพร ให้ดำเนินการช่วยเหลือหลังพบว่ารายชื่อที่ได้ส่งให้กับทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชุมพร เกิดสูญหาย ทำให้ไม่ได้รับเงินชดเชย จากโครงการทำลายสุกรเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

 โดยนายสัญญา คลี่เกสร เปิดเผยว่า ในพื้นที่ตำบลท่าข้าม และตำบลรับร่อ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร จำนวนหนึ่งกว่า 40 ราย ได้ยึดอาชีพเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรขุนเพื่อจำหน่ายในพื้นที่ จ.ชุมพร แต่ละรายไม่ต่ำกว่า 10 ปี และเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ได้เกิดโรคระบาดในสุกร ส่งผลให้สุกรของเกษตรกรได้เจ็บป่วย และทยอยตายลง ไปหลายตัว โดยในเบื้องต้น เกษตรกรได้ทำลายด้วยการฝั่งกลบกันเอง แต่ต่อมาการแพร่ระบาดได้หนักขึ้น

 นายสัญญา กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ของปศุสัตว์ได้เข้ามาดูแลรักษา แต่ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ จึงจำเป็นต้องทำลายสุกรทุกตัวของแต่ละเจ้าเพื่อตัดวงจรของเชื้อในสุกรไม่ให้แพร่ระบาด โดยต้องกำจัดในรัศมี 2 กม.ในฟาร์มที่พบเชื้อ โดยทางผู้เลี้ยงสุกรแต่ละราย จะได้รับค่าชดเชยเยียวยา 75%ของราคาสุกรต่อกิโลกรัม  ซึ่งในการทำลายสุกร ในตำบลท่าข้าม และตำบลรับร่อ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ในครั้งนั้น ไม่ต่ำกว่า 8 พันตัว ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรแทบหมดตัว เนื่องจาก แต่ละรายจะมีเงินหมุนเวียนจากการจำหน่ายสุกรต่อเดือน และแต่ละเดือนสุกรที่จำหน่ายก็จะได้ไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นบาทต้องมาหายไปจากการแพร่ระบาดของโรคในครั้งนี้

 นายสัญญา กล่าวต่อว่า ตนเองเป็นคนหนึ่งที่ยอมรับว่า แทบจะหมดตัวไปเลย สุกรที่เลี้ยงไว้ ที่สามารถจำหน่ายได้แล้ว เหมือนในวันพรุ่งนี้  ที่ได้รับเงินแน่ๆ 7 หมื่นบาท ก็ต้องหายไปโดยปริยาย และต้องทำลายหมดคอก ทุกตัว ทุกรุ่น คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท แต่ที่ช้ำใจมากไปกว่านั้น ภรรยารับไม่ได้เกิดภาวะเครียด แม้ตนเองพยายามปลอบไม่ให้คิดมาก แต่ในที่สุดภรรยาเกิดเส้นเลือดในสมองแตก และเสียชีวิต  มิหนำซ้ำเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางปศุสัตว์จังหวัดชุมพร ได้แจ้งมาว่ารายชื่อของพวกตนเอง จำนวน 19 ราย ที่จะต้องได้รับเงินชดเชยเยียวยา ในกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ ได้ตกหล่นไป ทำให้ต้องรองบหน้าแต่ไม่รู้วันเวลาที่แน่นอนว่าจะได้เมื่อไหร่ ทำให้พวกตนได้รวมตัวกันมายื่นหนังสือเพื่อให้ทางจังหวัดได้ดำเนินตรวจสอบการทำงานของปศุสัตว์และช่วยเร่งรัดเรื่องเงินชดเชยเยียวยา มามอบให้ทางเกษตรกรให้ได้โดยเร็วเพื่อจะได้หันกลับมาฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรอีกครั้งต่อไป              

 ด้านนายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รอง ผวจ.ชุมพร เปิดเผยหลังรับหนังสือจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ว่า ตนเองในฐานะที่ดูแลศูนย์ดำรงธรรม ก็จะให้ทางผู้เดือดร้อน ไปลงบันทึกแจ้งจำนงถึงความเดือดร้อน จากปัญหาดังกล่าว เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถเร่งรัดการช่วยเหลือได้เร็ว และในขณะเดียวกันตนเองก็จะให้ทางปศุสัตว์จังหวัดชุมพร ได้ทำหนังสือทวงถามไปยังเขตสุราษฎร์ธานี และกรมปศุสัตว์ ว่าเกิดปัญหาตรงไหน ทำไมรายชื่อของเกษตรกรกลุ่มแรกกลุ่มนี้ จึงตกหล่นไป พร้อมทั้งนี้ตนเองจะให้ผู้เดือดร้อนได้จัดตัวแทน 3 คน มารวมประชุมทุกวันพฤหัสบดี เพื่อจะได้รับทราบข้อมูลต่างๆในแต่ละอาทิตย์ว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว โดยตนไม่ยอมให้ทางกรมปศุสัตว์พูดลอยๆว่าพบรายชื่อแล้ว ทุกคนได้เงินชดเชยแน่ แต่เลื่อนลอยไม่รู้ว่าจะได้รับเมื่อไหร่

นายสมพร กล่าวว่า เป็นเรื่องตลกที่กรมปศุสัตว์ ทำรายชื่อตกหล่น แล้วมาบอกว่าเจอแล้ว ซึ่งถ้าหากเกษตรกรผู้สุกร ไม่ออกมาและยื่นหนังสือ ไม่ทราบว่า รายชื่อนั้น ยังอยู่หรือไม่ เรื่องนี้ตนเองไม่ยอม จะขอติดตามให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรอย่างเต็มที และต่อเนื่อง จนกว่าจะได้เงินดังกล่าวทุกราย ตนเองถึงจะสบายใจ ยิ่งมีผู้เสียชีวิตเพราะเครียดจากเรื่องปัญหาการแพร่ระบาดของโรคในสุกรอีกด้วย มันคือเรื่องใหญ่ที่ข้าราชการจะต้องช่วยเหลือ อย่างเต็มความสามารถ

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่ได้รับฟังจากปากนายสมพร รอง ผวจ.ชุมพร เป็นที่พอใจ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ทั้ง 19 ราย ก็ได้เดินทางกลับด้วยรอยยิ้มและบรรยากาศชื่นมื่น/

https://youtu.be/WkxZvlXf3cg

/ประสิทธิ์ ลีฬหคุณากร ชุมพร