นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน และ ดร.จักรพงษ์ คงปัญญา ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรปลอดภัย ลงพื้นที่จังหวัดชุมพร หารือผู้ประกอบการส่งออกผลผลิตการเกษตร เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหามาตรการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้าเกษตรปลอดภัย และสินค้าเกษตรอินทรีย์ ร่วมถึงรับฟังแนวทางการพัฒนาอาชีพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

โดยผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร (AGQC) ตลาดมรกต อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เพื่อศึกษาดูงานและร่วมประชุมเกี่ยวกับการดำเนินการด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก โดย นายธเนศ สร้างถาวร ผู้จัดการทั่วไปตลาดมรกต ได้ให้ข้อมูลรวมถึงปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการ เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง รวบรวมข้อมูลประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาเชิงระบบกรณีการดำเนินงานภาครัฐเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้าเกษตรปลอดภัยและสินค้าเกษตรอินทรีย์

จากนั้น ได้ลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ และสวนเกษตรอินทรีย์ ภายใต้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร เพื่อรับฟังแนวทางการพัฒนาอาชีพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ประสบความสำเร็จในการสร้างรายได้จากสินค้าเกษตรให้แก่ชุมชนในพื้นที่อย่างมั่งคั่งและยั่งยืน รวมทั้งศึกษาดูงานการผลิตกาแฟ และการขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทนที่ช่วยพัฒนาคุณภาพและลดต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์สร้างความต่างให้สินค้าเกษตรในกลุ่มประเภทเดียวกัน โดยวิสาหกิจได้ขอให้ภาครัฐสนับสนุนด้านมาตรฐานระดับฟาร์ม โดยเฉพาะ มาตรฐาน GMP หรือ ISO และมาตรฐานการแปรรูปกาแฟ พร้อมกับสนับสนุนด้านการส่งออก ส่งเสริมแบรนด์กาแฟไทยสู่ตลาดโลก  ต่อมาคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ลงพื้นที่ศึกษาการดำเนินการเกี่ยวกับเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ ณ สวนนรินทร์ หมู่ 4 ตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ผสมไม้ผล ได้แก่ กล้วยและทุเรียน โดยผลิตผลหลักส่งออกกล้วยหอมทองสู่ตลาดประเทศญี่ปุ่น เพื่อรับทราบแนวทางการดำเนินงานที่สามารถเป็นต้นแบบการเกษตรปลอดภัย รวมถึงปัญหา อุปสรรค  เพื่อเป็นข้อมูลร่วมประชุมหารือกับจังหวัดชุมพรรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ศาลากลางจังหวัดชุมพร

นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า เนื่องจากที่ผ่านมายังพบปัญหาสารตกค้างผ่านสื่อต่างๆเป็นระยะ โดยเฉพาะปัญหายาฆ่าแมลงตกค้างในผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะพืชผัก ผลไม้ ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าหลักที่บริโภคภายในและส่งออกต่างประเทศ จึงเล็งเห็นความสำคัญของการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่เกี่ยวกับกลไกมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคสินค้าเกษตรที่ยังเป็นไปได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร  จึงหยิบยกเรื่องดังกล่าวดำเนินโครงการศึกษาของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้าเกษตรปลอดภัยและสินค้าเกษตรอินทรีย์ (เฉพาะพืชผักและผลไม้) ที่มาและสภาพปัญหาจากสินค้าเกษตรที่ไม่ปลอดภัยไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานของอาหารที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยได้ลงพื้นที่จังหวัดชุมพร ในฐานะที่เป็นจังหวัดศูนย์กลาง (HUB) ตลาดผลไม้ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ เพื่อรับฟังปัญหา อุปสรรค แนวทางแก้ไข รวมถึงแนวทางการดำเนินการด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัยเพื่อการส่งออกที่เป็นประโยชน์ไปเป็นต้นแบบในการดำเนินการเกี่ยวกับคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าเกษตรและอาหารที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคต่อไป//

ภาพ-ข่าว ประสิทธิ์ ลีฬหคุณากร /ชุมพร