ที่ห้องประชุมลำตะคอง โรงแรมแคนทารี่โฮเทล ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสุเกียรติ กิตติธรรมโชติ ผู้อำนวยการฝ่ายภาพลักษณ์และองค์กรสัมพันธ์ บริษัท คาร์กิลล์ สยาม จำกัด เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Workshop แก่คณะครูผู้ดูแลโครงการที่ร่วมโครงการการเกษตรทำนาอย่างยั่งยืน ผสานความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นำองค์ความรู้และนวัตกรรมมาต่อยอด

นายสุเกียรติ กิตติธรรมโชติ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นองค์กรธุรกิจด้านนวัตกรรมอาหารและเกษตรกรรมของโลก แนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทฯ จึงให้ความสำคัญกับเรื่องของ อาหาร เกษตร สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมองว่า การสร้างสังคมให้เติบโตอย่างสมบูรณ์ ต้องเกิดจากการปลูกฝังองค์ความรู้ให้กับเด็ก โครงการในเบื้องต้น คาร์กิลล์จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จังหวัดนครราชสีมา ทำโครงการเกษตรอาหารกลางวันให้โรงเรียนที่ขาดแคลน ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 โดยนำนวัตกรรมและองค์ความรู้จาก มทส. ส่งต่อให้กับครูและนักเรียน

บริษัทคาร์กิลล์เน้นโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้ได้โรงเรียน 28 โรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา และเพิ่มโรงเรียนในจังหวัดสระบุรี อีก 6 โรงเรียน โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะทำโครงการสำเร็จได้ 70 โรงเรียนในพื้นที่ภาคอีสาน ภายในปี 2567 โดยได้จัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Workshop แก่คณะครูที่ร่วมโครงการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน ในการจัดนำองค์ความรู้ นวัตกรรม เช่น โดรน งานวิจัยปลานิลแปลงเพศ งานวิจัยข้าว นวัตกรรมไข่ไก่โอเมก้า มาเพิ่มมูลค่าและพัฒนาผลิตผลให้กับเกษตรกร พร้อมส่งต่อความรู้จากนักเรียนสู่ผู้ปกครอง ทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาใช้ สร้างรายได้ และทักษะใหม่ๆ

ด้าน ผศ.ดร.พงษ์ชัย จิตตะมัย รองอธิบดีฝ่ายการเงินทรัพย์สิน และวิสาหกิจมหาวิทยาลัยสุรนารี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสุรนารี ได้จัดทีมลงพื้นที่ตามโรงเรียนต่างๆ ได้ฝึกทักษะให้กับนักเรียนและคณะครูของโรงเรียนในเรื่องของการเกษตร โดยปัจจุบันได้นำไปใช้ในการปลูกพืช ในระบบไฮโดรโปนิกส์ การเลี้ยงไก่ไข่ การเพาะเห็ด และการเลี้ยงปลา ส่วนในความพิเศษของโครงการนี้ ทางมหาวิทยาลัยสุรนารี ก็ได้จัดทีมนักวิจัยและทีมผู้เชียวชาญลงในพื้นที่ สิ่งที่นักเรียนจะได้รับก็คือ ความรู้จากผู้ที่รู้จริงและได้ปฏิบัติจริง และจะได้ผลลัพธ์ที่ดีมาก มีผลผลิตในเรื่องอาหารกลางวัน และนำผลผลิตไปขายได้

สำหรับโครงการเกษตรอาหารกลางวัน เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการช่วยเหลือสังคมในพื้นที่ภาคอีสานเป็นหลัก ส่วนความช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่รอบโรงงานอีก 6 แห่ง ได้แก่ สระบุรี นครปฐม พิษณุโลก ปราจีนบุรี เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา มีการพัฒนาและจัดทำโครงการที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป.

ภาพ-ข่าว / อภิรักษ์ ศรีอัศวิน ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา