กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้ามอบ GAP นาเกลือทะเล 2 รายแรกของไทย พร้อมเร่งตรวจประเมินแปลงนาเกลือเพื่อพัฒนาสู่มาตรฐานระดับสากล

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ครั้งที่ 1/2565 ผ่านการประชุมออนไลน์ ZOOM Meeting

โดยมี นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนผู้แทนจากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

โดยที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเล ปี 2564/2565 (ข้อมูล ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565) มีจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนรวม 7 จังหวัด สมุทรสาคร เพชรบุรี สมุทรสงคราม ปัตตานี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และจันทบุรี จำนวน 597 ครัวเรือน 941 แปลง เนื้อที่ 19,041.27 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 82.57 เมื่อเทียบกับจำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนในปีการผลิต 2563/2564 และคาดการณ์ว่าปีการผลิต 2564/2565 จ.สมุทรสาคร จะมีปริมาณผลผลิตออกมามากสุด 316,459 ตัน

พร้อมกันนี้ ได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานมาตรฐานเกลือทะเลไทย ในการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ. 9055-2562) ในปีงบประมาณ 2565 โดยมีเกษตรกรที่มายื่นขอรับการรับรองแล้วจำนวน 25 ราย 50 แปลง พื้นที่ 1,461.22 ไร่ ปัจจุบันมีเกษตรกรได้รับการรับรองตาม มกษ. 9055 แล้วจำนวน 2 ราย ได้แก่ นายเลอพงษ์ จั่นทอง จ.สมุทรสาคร พื้นที่การผลิตเกลือทะเล 40 ไร่ และนางสาววรรณจิตร สินทะเกิด จ.สมุทรสาคร พื้นที่การผลิตเกลือทะเล 44 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565) โอกาสนี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวแสดงความยินดีและมอบหมายให้ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้มอบใบรับรองมาตรฐาน GAP ให้กับเกษตรกรทั้ง 2 ราย อย่างไรก็ตามยังมีเกษตรกรนาเกลือที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจรับรองเพื่อขอรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตรวจรับรองแปลงนาเกลืออย่างน้อยจังหวัดละ 1 แปลง เพื่อยกระดับการผลิตเกลือทะเลไทยให้ได้มาตรฐานและรองรับการขยายช่องทางการจำหน่ายต่อไป 

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาเกลือทะเล ปี 2564 ในพื้นที่การผลิตเกลือทะเล จำนวน 3 จังหวัด ที่มีผลผลิตเกลือทะเลค้างสต็อก จากปีการผลิต 2562/63 โดยชดเชยส่วนต่างราคาขายเกลือทะเลให้กับเกษตรกร ตันละ 250 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ ผลผลิตไม่เกินรายละ 443.40 ตัน ผลการดำเนินงานชดเชยส่วนต่างค่าจำหน่ายเกลือทะเลให้เกษตรกร จำนวน 111 ราย เกลือทะเลจำนวน 39,841.17 ตัน แบ่งเป็น จ.เพชรบุรี 107 ราย เกลือทะเลจำนวน 33,067.42 ตัน จ.สมุทรสาคร 36 ราย เกลือทะเลจำนวน 6,173.75 ตัน และ จ.สมุทรสงคราม 2 ราย เกลือทะเลจำนวน 600 ตัน ซึ่งจำนวนเกลือทะเลที่เข้าร่วมโครงการและการชดเชยส่วนต่างค่าจำหน่ายเกลือทะเล คิดเป็นร้อยละ 81.70 ของเป้าหมายโครงการ ส่วนผลการเบิกจ่ายงบประมาณ 10,076,707.75 บาท คิดเป็นร้อยละ 81.61 ของวงเงินอนุมัติ เป็นค่าชดเชยส่วนต่างราคาเกลือทะเลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเป็นเงินจำนวน 9,960,291.75 บาท และเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จำนวน 116,416 บาท ส่งคืนกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเป็นเงิน 2,493,592.25 บาท และมีค่าดอกเบี้ยเงินฝากจำนวน 7,860.69 บาท (ข้อมูลวันที่ 12 มกราคม 2565)

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณายกร่างแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ทำนาเกลือที่ประสบภัยพิบัติ เพื่อบรรจุในคู่มือการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร โดยกำหนดชนิดของภัย ได้แก่

1) ชนิดภัยธรรมชาติ น้ำท่วมในแปลงนาเกลือทะเล

2) ชนิดภัยธรรมชาติ น้ำทะเลหนุนในแปลงนาเกลือทะเล

และ 3) ชนิดภัยธรรมชาติ พายุ/ฝนหลงฤดู ในแปลงนาเกลือทะเล

อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แก่เกษตรกรเพื่อเร่งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน สำหรับกรณีที่เกษตรกรผู้ทำนาเกลือ จ.เพชรบุรี ประสบภัยพิบัติฝนตกมาตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2565 เกิดความเสียหายเกลือละลายไปกับน้ำฝนถึง 5 หมื่นตัน มูลค่าความเสียหายกว่า 75 ล้านบาทนั้น ได้เร่งให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำความเข้าใจถึงกระบวนการ ขั้นตอนต่างๆ เพื่อขอรับเงินชดเชยจากรัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหาของพี่น้องเกษตรกรให้ทันท่วงที

ตลอดจนร่วมกันพิจารณาแนวทางในการกำหนดราคาเกลือทะเลไทยที่เหมาะสม โดยรับฟังความคิดเห็นและข้อสังเกตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเล กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น เพื่อหาแนวทางการจัดทำข้อตกลง โดยการสำรวจต้นทุนการผลิตเกลือทะเล และกำหนดราคาซื้อ-ขายเกลือทะเลไทยที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร และมีความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนต่อไป