ตามที่คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนได้ลงพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายและผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่ประกาศใช้บังคับแล้ว รวมทั้งนำข้อเสนอแนะและปัญหาต่างๆ จากประชาชนในพื้นที่พร้อมทั้งปัญหาและอุปสรรคของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปสู่การแก้ไขโดยอาศัยกลไกของวุฒิสภานั้น
โดยวันนี้ ซึ่งเป็นวันแรกของการลงพื้นที่จังหวัดแพร่ คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน นำโดย พลเอกสกล สัจจานิตย์ รองประธานกรรมการคนที่ 1 และคณะ เข้าร่วมประชุมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อมมอบเกียรติบัตรให้แก่บุคคล องค์กร หน่วยงาน ที่เป็นผู้นำต้นแบบ หรือร่วมผลักดันสนับสนุนการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ที่ห้องประชุมจดหมายเหตุ ศาลากลางจังหวัดแพร่ โดยมีนางสาวนิติยา พงษ์พานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่นำส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวรายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน ในด้านการพัฒนานวัตกรรมด้านป่าไม้
ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ ภายใต้ผืนป่า (Economy UnderThe Forest) รับฟังความคืบหน้าการขับเคลื่อนโรงเรียนการป่าไม้แพร่ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับสถาบันการศึกษา ในการดำเนินงานขับเคลื่อนได้ขี้แจงผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการสมาชิกวุฒิสภารับทราบ, การพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมเกษตรผสมผสาน ซึ่งได้มีการวางรากฐานและหลักสูตรต่างๆ ในการขับเคลื่อนด้านการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อเพิ่มรายได้ เสริมสร้างเศรษฐกิจองค์รวมแก่ประชาชนชาวจังหวัด แพร่ และการจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดแพร่
นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมการโครงการฯกล่าวว่า สมาชิกวุฒิสภาให้ความสำคัญในเรื่องของ ป่าไม้ ดิน น้ำ และอากาศ โดยเฉพาะแหล่งน้ำจังหวัดแพร่นั้นถือว่าขาดแคลน ซึ่งปีนี้มีปรากฏการณ์เอลนีโญ จังหวัดแพร่จึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอทั้งน้ำอุปโภค-บริโภคและน้ำการเกษตร ด้านอากาศจังหวัดแพร่มีปัญหาด้านหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในทุกปี ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ในส่วนของป่าไม้นั้น ทางกรมป่าไม้ มีแนวคิดจะแก้ไขปัญหาให้คนอยู่กับป่าได้อย่างสมบูรณ์ โดยใช้ประโยชน์จากป่าร่วมกัน เป็นป่าเศรษฐกิจและป่านันทนาการ ซึ่งจะมุ่งเน้นในการฟื้นฟูให้โรงเรียนการป่าไม้แพร่กลับมาอีกครั้ง โดยใช้ชื่อว่า “สถาบันพัฒนานวัตกรรมด้านป่าไม้” ซึ่งสอดคล้องกับกรมป่าไม้ที่ได้เปลี่ยน หน่วยงานในสังกัดเป็นสถาบันพัฒนานวัตกรรมด้านป่าไม้ เช่นกันเพื่อร่วมกันขับเคลื่อน “สถาบันพัฒนานวัตกรรมด้านป่าไม้” ให้เป็นรูปธรรม ควบคู่กับการดูแลพื้นที่ป่าและดินในพื้นที่จังหวัดแพร่
ธีรพงษ์ ธงออน/แพร่