ที่โรงแรมอิมพิเรียล โกลเด้น ไทรแองเกิล รีสอร์ท อ.เชียงแสน จ.เชียงราย Dick Custin ที่ปรึกษาฝ่ายสื่อมวลชนและวัฒนธรรม สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย นางสาวมัชฌิมา นราดิศร อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับ ศูนย์วิจัยสังคมอนุภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสัมมนาเชิงปฎิบัติการเครือข่ายนักวิชาการอนุลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีผู้เข้าร่วมซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ นักอนุรักษ์และสื่อมวลชนประมาณ 100 คน การสัมมนาเริ่มต้นด้วยการสนทนาทางวิชาการในหัวข้อ “ความหลากหลายของผู้คน องค์ความรู้และโอกาสที่เหลืออยู่ในการพัฒนาที่เป็นธรรมและยั่งยืนบนอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ผศ. ดร.มัชฌิมา นราดิศร กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 25 ปีแห่งการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้มุ่งมั่นเป็นแหล่งความรู้ของภูมิภาคในการส่งเสริมการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนผ่านการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ การส่งเสริมงานวิจัย นวัตกรรม และความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โครงการนี้สะท้อนให้เห็นความพยายามอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมกิจกรรมระดับนานาชาติและภูมิภาคเพื่อสร้างความยั่งยืน ความยืดหยุ่นและความปลอดภัยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ศ.กิตติคุณสุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าบริบทแม่น้ำโขงในท่ามกลางวิกฤตภูมิรัฐศาสตร์ต้องเกี่ยวข้องกับหลายประเทศเ ดังนั้นการถกกันเรื่องภูมิรัฐศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ และมีวิธีการอย่างไรในการหารือกันสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ด้วย เพราะการเมืองระหว่างประเทศ บางทีก็ไม่เอื้อประโยชน์ข้ามพรมแดน “ความทุกข์ข้ามพรมแดนประชิดตัวเข้ามาทุกทีในโลกร้อนโลกเดือดใบนี้ จึงต้องมีการคุยกันให้หัวใจข้ามพรมแดนคนในภูมิภาคเดือดต้อนกันมานาน ถ้าจะถกกันคือโจทย์ระหว่างประเทศ ทำอย่างไรเรื่องน้ำโขงเข้ากับคติชน อย่าปล่อยให้เกิดการละเลยประเพณีพื้นบ้าน และต้องช่วยกันทำให้แม่น้ำโขงเป็นลุ่มน้ำสาธารณะที่ใช้ร่วมกัน ตอนนี้การแก้ของฝ่ายนโยบายก็มักถูกบีบให้แก้ในสภาวะฉุกเฉิน”ศ.สุริชัย กล่าว
ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ความหลากหลายของผู้คนในลุ่มน้ำโขง หากเราย้อนกลับไปดูนิทานเรื่องน้ำเต้าปู คือมนุษย์ที่เกิดมาจากน้ำเต้า แต่ละคนออกมาไม่พร้อมกัน มนุษย์คนแรกผิวคล้ำเพราะเขม่าปากน้ำเต้าสันนิฐานว่าเป็นขมุ ข่า แต่คนที่ออกต่อมาเป็นผิวสีน้ำตาลและขาวเพราะเขม่าปากน้ำเต้าหมดแล้ว นิทานนี้ทำให้เราเข้าใจบริบทความมีคนหลากหลายอยู่ร่วมกันในภูมิภาคนี้มานาน
รศ.ชัยยุทธ สุขศรี ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรราศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนเข้ามาพื้นที่ริมโขงครั้งแรกจากโครงการกก อิง น่าน ครึ่งหนึ่งของชีวิตทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาในลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการยกร่างข้อตกลงแม่น้ำโขงโดยตนอยู่ในคณะทำงานของฝ่ายไทย จึงมีโอกาสสัมผัสการทำกลไกในแง่ของนโยบายและเทคนิค โดยมีข้อวิพากษ์ข้อตกลงแม่น้ำโขงมากเพราะมีความเข้าใจไม่ครบถ้วน เช่น การพัฒนาเขื่อนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า การรวมตัวของนักวิชาการอาจตื่นต้วช้าไป จากที่แม่น้ำโขงได้รับการพัฒนามา 60 ปี ซึ่งมีอำนาจนำ การพูดเรื่องความร่วมมือและผลกระทบมีโอกาสเหลืออยู่น้อย แต่เราพยายามไขว่คว้าว่าอนาคตข้างหน้าเราไปทางไหน และยึดอะไรเป็นตัวตั้ง จะยึดธรรมชาติเป็นศูนย์กลาง หรือให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง
ขณะที่นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการแห่งประเทศไทย กล่าวระหว่างการสัมมนาเรื่อง “นโยบายและมโนทัศน์แห่งอนาคตของแม่น้ำโขง”ว่า มีการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงมาก แต่การศึกษากลับชี้ไม่ได้ว่าปลาหายไปไหน และมีปลาเหลืออยู่กี่ชนิด ความหวังคือเราไม่ต้องการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแม่น้ำโขง หรือไม่อยากให้สร้างเพิ่ม ทุกวันนี้แม่น้ำโขงไม่มีต้นไคร้อีกแล้ว ขณะที่แม่น้ำสาละวินยังมีต้นไคร้มากมายแต่ไม่มีใครตอบได้ว่าหายไปไหน ถือว่าเป็นความวิบัติของแม่น้ำ และการพูถึงแม่น้ำโขงก็ต้องรวมไปถึงน้ำสาขาด้วย ขณะนี้มีโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูน นักการเมืองแทบทุกคนในอีสานต่างตอบรับหมด อยากให้นักวิชาการทำงานขับเคลื่อนควบคู่กับประชาชน
ภาพ-ข่าว ณัฐวัตร ลาพิงค์/