อิทธิพลของพายุฝนที่ตกติดต่อกันหลายวันตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำสะสมในพื้นที่รับน้ำตอนบนเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จำนวนมาก ตั้งแต่ อำเภอหล่มสัก อำเภอบึงสามพัน อำเภอวิเชียรบุรี อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และ อำเภอชัยบาดาล อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในปริมาณมาก และ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ยังคงมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของเขื่อนป่าสักฯ กว่า 170 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งขณะนี้ ปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ที่ 407.99 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น ร้อยละ 42.50 ของความจุเขื่อน แต่เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เกิดประสิทธิ์ภาพสูงสุด สอดคล้องกับ การพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับ พายุโซนร้อน “มู่หลาน” ที่อาจส่งผลกระทบกับประเทศไทยในระหว่างวันที่ 11-13 สิงหาคม 2565 นี้ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น ตามแผนการบริหารจัดน้ำที่กรมชลประทานกำหนด เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด 

 ทั้งนี้ นายอภิรักษ์ ศรีกุลวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ ได้ลงนาม หนังสือด่วนที่สุด เพื่อแจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำเพิ่ม ตั้งแต่จังหวัดลพบุรี สระบุรี ต่อเนื่องไปจนถึง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะทยอยปรับเพิ่มการระบานน้ำลงสู่ท้ายเขื่อน เพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ จะทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำ จาก 80 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 120 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ ระดับน้ำในแม่น้ำปาสัก เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน ประมาณ 80 ถึง 90 เซนติเมตร โดยระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นยังอยู่ในลำน้ำ ไม่เกิดสภาวะน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำป่าสัก และไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เสี่ยงท้ายน้ำ  และขอให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ทราบ และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

 ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ กล่าวว่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีศักยภาพสูงสุดในการระบายน้ำอยู่ที่ ปริมาณการระบายน้ำสูงสุด 600  ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะนี้มีการปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเมื่อวาน 80 ลูกบาศก์ต่อวินาที เป็น 120 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หากไม่มีฝนตกทางจังหวัดทางภาคเหนือ หรือมีพายุที่ทำให้เกิดฝนตกหนักและตกต่อเนื่องในพื้นที่ ก็คาดว่าจะสามารถบริหารจัดการน้ำได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ แต่หากมีปริมาณน้ำจำนวนมากเหมือนเมื่อปีที่ผ่านมา เขื่อนฯ จำเป็นต้องระบายน้ำออกไปยังพื้นที่ท้ายน้ำ  แต่จะประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ทราบล่วงหน้าขอให้ประชาชนและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อไป.

ภาพ-ว สมชาย เกตุฉาย –  ลพบุรี  /  รายงาน