“อลงกรณ์”เตือน”ไพศาล”อย่าบั่นทอนมิตรภาพไทย-จีนกรณีโยงการส่งออกทุเรียนไทยกับนาโต้ ชี้เป็นปัญหาโควิดไม่ใช่การเมืองระหว่างประเทศ
ยืนยันสัมพันธ์ไทย-จีนแนบแน่นนำเข้าผลไม้ไทยอันดับ1จนครองมาร์เก็ตแชร์ตลาดผลไม้จีนกว่า40%ทิ้งห่างชิลีและเวียดนามหลายเท่าตัว

กรณีนายไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณเขียนเฟสบุ๊คเรื่อง การส่งออกผลไม้ไทยนับล้านตันไปจีนส่อเดี้ยงโดยโยงเรื่องการเมืองระหว่างประเทศกรณีนาโต้ทำให้จีนกีดกันทุเรียนไทยนั้น
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้(Fruit Board)เขียนเฟสบุ๊คส่วนตัววันนี้ว่า ข้อเขียนของนายไพศาลที่โยงการเมืองระหว่างประเทศเรื่องนาโต้กับไทยเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้จีนกีดกันการส่งออกทุเรียนไทยนั้น ไม่เป็นความจริงและเป็นประเด็นที่จะส่งผลร้ายผลลบกระทบความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีระหว่างจีนกับไทย เพราะคุณไพศาลพยายามทำให้คนไทยเชื่อว่าจีนกีดกันหรือกลั่นแกล้งการส่งออกทุเรียนและผลไม้ไทยซึ่งจะก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีระหว่างประขาชนของ2ประเทศ
“เรื่องด่านจีนและการขนส่งเป็นปัญหาโควิดไม่ใช่ปัญหานาโต้ และมาตรการซีโร่โควิดของจีนใช้กับทุกเมืองทุกมณฑลในประเทศจีนและทุกด่านทั้งทางบกทางน้ำทางอากาศรอบประเทศจีนไม่ใช่เฉพาะด่านลาวด่านเวียดนามที่ไทยต้องขนส่งผลไม้ผ่านด่านเหล่านั้น ทุกประเทศกระทบหมดทั้งพม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา ทั้งสมาชิกนาโต้และไม่ใช่นาโต้ ไม่มีประเทศใดได้สิทธิพิเศษ ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อนเวียดนามที่มีโควิดแพร่ระบาดมากขึ้นในช่วงนี้ ทางจีนก็ออกมาตรการเพิ่มจากเดิมที่ด่านจีน-เวียดนามเพื่อป้องกันโควิด”

นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่าข้อพิสูจน์ถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับไทยโดยเฉพาะด้านการค้าและการส่งออกผลไม้รวมถึงทุเรียนไทย คือในปี2564 จีนซื้อผลไม้ไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมากว่าแสนล้านบาทและคนจีนนิยมผลไม้ไทยมากกว่าทุกประเทศในโลก ทำให้ไทยเป็นแชมป์ส่งออกทุเรียนและผลไม้ไปจีนได้มากที่สุดกว่าทุกประเทศสามารถครองส่วนแบ่งตลาดหรือมาร์เก็ตแชร์ในตลาดจีนได้กว่า40% อันดับ2คือชิลี 10%เศษและอีนดับ3 เวียดนาม 6% ถ้าโควิดไม่ระบาดหนักเหมือน2ปีที่ผ่านมาการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนจะขยายตัวมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

ยิ่งกว่านั้นเมื่อปลายปี2564ทั้ง2ประเทศโดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรและรัฐมนตรีGACCของจีนได้ลงนามในพิธีสารเปิดด่านผลไม้เพิ่มอีกเป็น16ด่านมากที่สุดเป็นประวัติการณ์จากเดิมที่มีเพียง6ด่าน
ข้อมูลเช่นนี้ตรงข้ามกับที่คุณไพศาลบอกว่าจีนไม่พอใจไทยหรือกลั่นแกล้งไทยเพราะปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ

  “คุณไพศาลมีสิทธิ์วิจารณ์ทุกเรื่องแต่ต้องแม่นยำตรวจสอบข้อมูลให้ชัดแจ้งโดยเฉพาะประเด็นที่จะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับจีน รวมทั้งข้อมูลเรื่องระบบโลจิสติกส์ผลไม้ทั้งทางบกทางน้ำก็ให้ข้อมูลผิดๆเช่นสถานีรถไฟดังดงของเวียดนามอยู่ห่างด่านรถไฟผิงเสียงเพียง17กิโลเมตร ไม่ใช่อยู่กลางประเทศเวียดนามห่างไกลพรมแดนกว่างสีตามที่คุณไพศาลบอก 

ส่วนการขนส่งทางรถไฟสายใหม่จีน-ลาวนั้นประเทศไทยเริ่มขนส่งข้าวเหนียว20ตู้คอนเทนเนอร์ไปมหานครฉงฉิ่งเมื่อ27มกราคมที่ผ่านมา ไม่ใช่ขนส่งไม่ได้ตามข้อเขียนของคุณไพศาล และการขนส่งทางรถไฟสายใหม่นี้จะสามารถบรรทุกผลไม้ตามพิธีสารที่เพิ่งลงนามได้ทันทีที่ด่านตรวจพืชที่ด่านรถไฟโมฮ่านเสร็จและด่านนี้อยู่ห่างจากสถานีเวียงจันทน์กว่า400กิโลเมตร ไม่ใช่100กิโลเมตรตามที่คุณไพศาลเขียน ก็ขอให้คุณไพศาลทราบถึงข้อมูลเหล่านี้ต่อไปภายหน้าจะได้นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องต่อไป”


นายอลงกรณ์กล่าวในตอนท้ายว่า รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศได้หารือความร่วมมือกับจีนอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องในประเด็นใหม่เพื่อเพิ่มศักยภาพและแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ในฤดูกาลผลิตปีนี้ซึ่งจะยังได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด19ของจีน เช่น
1)ขอให้ล้งไทยที่ผ่านกระบวนการอบรมหลักสูตร “ล้งปลอดโควิด-19” มี GMP Plus รับรอง ซึ่งอบรมไปแล้วกว่า 400 แห่ง สามารถผ่านด่านจีนได้โดยไม่ต้องเปิดทุกตู้
2)การขนส่งบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาวโดยการปิดตู้ที่ประเทศลาว และ ส่งไปคุนหมิงโดยไม่ต้องแวะตรวจที่ด่านโมฮ่านเพื่อให้สามารถส่งทุเรียนและผลไม้เศรษฐกิจอื่นๆหรือเร่งเปิดด่านตรวจพืชที่ด่านรถไฟโมฮ่านให้เร็วที่สุด
3)เสนอให้มีการประชุมหารือกับประเทศจีน ลาวและเวียดนามเพื่อตกลงมาตรการร่วมกันเรื่อง protocol ในการเปิด-ปิดด่านชายแดนต่าง ๆ และ 4)เสนอให้ด่านมี Green Lane สำหรับผลไม้ไทยเป็นการเฉพาะ
ในส่วนของฟรุ้ทบอร์ดได้ร่วมกับภาคเอกชนและเกษตรกรออก18มาตรการตั้งแต่ปีที่แล้วรวมทั้งมาตรการกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติพร้อมกับแนะนำผู้ส่งออกให้เตรียมพร้อมรับมือกรณีมีปัญหาด่านทางบกให้เตรียมการล่วงหน้าในการขนส่งทางเรือรวมทั้งการขนส่งทางอากาศสำหรับผลไม้เกรดพรีเมี่ยมตลอดจนการกระจายสินค้าไปยังตลาดอื่นๆและการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศรวมทั้งการแปรรูปสร้างค่าเพิ่ม.