จากการเจริญเติบโตและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้มีความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นและส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนทั้งไทยและลาวมาเป็นเวลายาวนาน จากปัญหาที่พบและมีการข้อร้องเรียนซึ่งสื่อเคยได้นำเสนอไปแล้ว คือ ปัญหาการดูดทรายและการนำเข้าทรายจาก สปป.ลาว ซึ่งผู้ร้องเชื่อว่าน่าจะไม่ถูกต้อง ด้วยกำหนดทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการดูดทรายตามแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหืองของคณะกรรมการร่วมไทย-ลาว เพื่อดูแลการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง (Joint Committee for Management on Mekong River and Heung River หรือ JCMH) ที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการดูดทราย พบว่า มีผลกระทบต่อเนื่องทั้งในด้านเศรษฐกิจ คือ เริ่มเกิดปัญหาความขาดแคลนทรายสำหรับการก่อสร้างภายในจังหวัด ทำให้ราคาต้นทุนสูงขึ้น ปัญหาการเลิกจ้างงานเมื่อไม่สามารถดำเนินธุรกิจการดูดทราย ด้านคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ คือ เมื่อร่องน้ำฝั่งไทยตื้นเขิน ทำให้ประชาชนไม่มีแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตร โดยเฉพาะในหน้าแล้ง นรข.ก็ไม่สามารถใช้เรือลาดตระเวนตรวจได้ตลอดแนวลำน้ำโขง เกาะดอนหลายพื้นที่จึงกลายเป็นเส้นทางลักลอบลำเลียงยาเสพติดและการลักลอบเข้าเมือง นอกจากนั้น ยังอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่องน้ำหรือสันดอนหรือเนินทรายในแม่น้ำโขง ซึ่งจะกระทบต่อเส้นเขตแดนตามลำน้ำโขงระหว่างไทย-ลาว ปัญหาเหล่านี้จึงควรต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว ให้เห็นถึงความร่วมมืออันดีระหว่างไทยและลาวในการแก้ไขปรับปรุงข้อกำหนดทั้งสองฉบับ ซึ่งจะนำไปสู่ การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และลดหรือหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างกัน อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุน การทำงานร่วมกันแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ ซึ่งยึดถือประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศเป็นสำคัญ อันจะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่แนบแน่นยิ่งขึ้นไป และเพื่อให้แม่น้ำโขงนี้เป็นแม่น้ำแห่งมิตรภาพอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญ คือ กฎหมายและหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ตาม JCMH โดยข้อกำหนดทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการดูดทรายกำหนดให้พื้นที่ดูดทรายต้องมีระยะห่างจากสะพาน เขื่อนป้องกันตลิ่ง ท่าเรือ โรงพยาบาล โรงแรม สิ่งก่อสร้างที่สำคัญอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 1,000 เมตร และอยู่ห่างจากบ้าน ศาสนสถาน และโรงเรียนไม่น้อยกว่า 500 เมตร แต่ทั้งฝ่ายไทยและลาวเห็นตรงกันว่าไม่สามารถดำเนินการได้ในทางปฏิบัติจริง ซึ่งฤดูนี้ก็เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการได้หยุดไว้ชั่วคราว
นายสิริน ชาวเพชรดี ผอ.สำนักสอบสวน 3 สำนักงานตรวจการแผ่นดิน นายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมหารือ ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ เร่งหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาการอนุญาตดูดทรายในแม่น้ำโขง จ.หนองคาย หลังเดือดร้อนกระทบหลายภาคส่วน เนื่องจากได้เดินทางร่วมกับนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะผู้บริหาร สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจัดกิจกรรมบูรณาการความร่วมมือกับเครือข่ายของประชาสัมพันธ์จังหวัดหนองคาย ภายใต้โครงการเสริมสร้างความรู้ผู้ตรวจการแผ่นดินสู่การพัฒนาชุมชน ที่จังหวัดหนองคาย เมื่อวันที่ 23 ส.ค.66 ที่ผ่านมา และนายสิริน ชาวเพชรดี ผอ.สำนักสอบสวน 3 ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า การเดินทางมาครั้งนี้ เป็นการติดตาม ตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีที่ผู้ประกอบการดูดทราย ได้ร้องเรียนมายังผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ จ.หนองคาย โดยคณะกรรมการดูดทราย ไม่อนุญาตให้ต่อใบอนุญาตดูดทรายใน จ.หนองคาย โดยได้มีการกล่าวอ้างข้อตกลงระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว กรณีการจัดทำหรือดูดทรายในแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ ซึ่งแต่เดิมผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัย เพื่อให้ทางกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศได้ผลักดันให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย -สปป.ลาว เพื่อที่จะดำเนินการให้มีการจัดทำรับรองข้อตกลงที่เกิดขึ้น
ทาง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินร่วมกับ จ.หนองคาย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย ได้มีการประชุมหารือติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้รับแจ้งจาก กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงมหาดไทย ว่า ปัจจุบันนี้ ขั้นตอนการผลักดันให้มีการประชุมของคณะกรรมการ JCMH ให้เกิดขึ้น อยู่ในระหว่างการที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้เสนอไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการจัดประชุมเกิดขึ้นระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาวหลังจากนั้นก็จะได้ดำเนินการให้มีการรับรองข้อตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างกัน ขณะเดียวกันในระหว่างที่จะมีการประชุมในอนาคต ทางผู้ประกอบการดูดทราย ก็ได้มีการเสนอแนวทางในการที่จะผ่อนปรน แนวทางการอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถที่จะดำเนินการดูดทราย เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการบางรายได้หยุดหรือต้องหยุดประกอบกิจการ ขณะเดียวกันก็ภาระทางด้านค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะต้องดูแลในส่วนของการประกอบกิจการ ก็เลยได้เรียกร้องให้ทางหน่วยงานของรัฐ รวมถึงผู้ตรวจการแผ่นดินให้มีการพิจารณาประเด็นที่จะมีการผ่อนปรน มาตราการต่าง ๆ เพื่อให้ดำเนินการกิจการดูดทรายไปพรางก่อน จนกว่าดำเนินการในแนวทางระหว่างประเทศจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทางที่ประชุมก็รับทราบที่จะไปดำเนินการตามข้อเสนอแน่ะของที่ประชุมต่อไป
ภาพ-ข่าว พันธลภ แสงทอง -มนเดช-ปวีณา-อภิชาติ จังหวัดหนองคาย