ที่บ้านเลขที่ 79/2 ชุมชนโนนสำราญ เขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ  ต.หญ้าปล้อง อ.เมืองศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ   นางนวลฉวี ศรีพล อายุ 72 ปี และนางมาลัย   เศรษฐบดี อายุ 50 ปี แกนนำชาวบ้านโนนป่ายาง ได้เชิญตัวแทนชาวบ้านในเขตพื้นที่โนนป่ายางจำนวน 8 หมู่บ้าน 2 ตำบล ประกอบด้วย บ้านโนนแย้ บ้านโนนหล่อ บ้านโนนแดง บ้านเพียนาม หมู่ 3 บ้านเพียนาม หมู่ 9 บ้านโนนสำนัก ชุมชนโนนสำราญ ชุมชนกุดหวาย ในเขต ต.หญ้าปล้อง และ ต.หนองไผ่ ของ อ.เมืองศรีสะเกษ

มีประชาชนอาศัยอยู่กว่า 20,000 คน  มาร่วมประชุมปรึกษาเพื่อเตรียมข้อมูลในการที่จะเข้าร่วมประชุมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการประชุมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปัญหาที่ดินสาธารณประโยชน์และกรณีที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้างของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จ.ศรีสะเกษ ในวันที่ 28 มี.ค. 65 เวลา 13.30 น. ณ สำนักงานที่ดิน จ.ศรีสะเกษ  โดยมีการนำเอาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาจัดเป็นหมวดหมู่เป็นระบบเพื่อให้สามารถตรวจสอบสืบค้นได้ง่าย  ซึ่งมีการนำเอาหลักฐานแผนผังแสดงกระบวนการเกิดการลักลั่นทางกฎหมายในพื้นที่ ต.หญ้าปล้อง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ที่ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงในการได้รับเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินของราษฏรในพื้นที่นี้จนถึงปัจจุบันมาแจ้งให้ที่ประชุมได้รับทราบ

นางมาลัย   เศรษฐบดี อายุ 50 ปี แกนนำชาวบ้านโนนป่ายาง กล่าวว่า  ตนและคณะได้จัดทำแผนผังแสดงความเป็นมาของการเกิดความลักลั่นทางกฎหมายว่ามีสาเหตุที่ชัดเจนมาจากจุดใดบ้าง ซึ่งปัญหาโนนป่ายางมีมาตั้งแต่ปี 2447 – 2565  ไม่ว่าจะเป็นกรณีขอบเขตที่สาธารณประโยชน์โนนป่ายาง การแก้ไขและวางแนวทางที่ชัดเจนของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจนและเร่งด่วน เพื่อให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนได้รับเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินอย่างเป็นธรรม  ทำให้การดำเนินการของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาช่วยเหลือชาวบ้านระยะเวลาผ่านไป 25 ปีแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ทั้งที่พวกตนมีเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ชัดเจนมาก

นางนวลฉวี  ศรีพล อายุ 72 ปี  แกนนำชาวบ้านโนนป่ายาง กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ มีความคืบหน้าในการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอในที่ประชุมวันที่ 28 มี.ค.65 อย่างละเอียดมาก  โดยข้อมูลที่พวกตนได้รวบรวมมาจากทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องนี้ จะทำให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาได้รับทราบว่า ข้อเท็จจริงของที่สาธารณประโยชน์โนนป่ายางที่พวกตนและชาวบ้านทั้งหมดใช้เป็นที่ทำกินและอยู่อาศัยมาตั้งแต่  2450  แต่ว่าพอถึงปี 2468  ทางราชการได้ขีดเส้นให้โนนป่ายางเป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์สาธารณประโยชน์โนนป่ายาง จำนวน 4,125 ไร่ ทั้งที่มีชาวบ้านอาศัยทำกินและเป็นที่อยู่อาศัยมานานหลายชั่วอายุคนกว่า 100 ปี จนถึงขณะนี้มีชาวบ้านอาศัยอยู่ 8 หมู่บ้าน 2 ตำบล ประชาชนประมาณกว่า 20,000 คนแล้ว

ภาพ / ข่าว   ศิริเกษ   หมายสุข  ผู้สื่อข่าวประจำ จ. ศรีสะเกษ